เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม  มีการพิจารณาญัตติเรื่อง ขอเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาผลกระทบจากกรณีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังประเทศจีน ที่เสนอโดย นางอังคณา นีละไพจิตร สว. 

โดยนางอังคณา แถลงเหตุผลการเสนอญัตติ ว่า การส่งตัวผู้ลี้ภัยอุยกูร์กลับประเทศจีนโดยไม่สมัครใจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของไทยฐานะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยหลังจากส่งตัว ประเทศไทยถูกประณามจากมติรัฐสภายุโรป ที่ลงมติประณามไทย   482 เสียง  ทำให้เกิดคำถามและความเสื่อมเสียอย่างยิ่ง นอกจากนั้นแล้ว รมต.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาตรการงดวีซาเจ้าหน้าที่ไทย เพราะมองว่าการส่งอุยกูร์กลับจีนนั้นอาจทำให้คนเหล่านั้นอาจเป็นเหยื่อของการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

“ขอถามรัฐบาลว่าประเทศไทยได้อะไรบ้างจากการส่งชาวอุยกูร์กลับ แทนที่รัฐบาลจะพูดความจริง แต่ปกปิดความจริง วันนี้ไม่ว่ารัฐบาลแถลงอะไร จะถูกมองว่าโกหกซ้ำซาก วันหนึ่งบอกว่าไม่ส่งกลับ แต่อีกวันกลับส่งกลับ วันหนึ่งบอกว่าไม่มีประเทศไหนรับ ต่อมามีหลายประเทศเปิดเผยว่ายินดีรับ ซึ่งไทยบอกให้ไปคุยกับจีน วันหนึ่งบอกว่ากักตัวมา 11 ปีนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำไมไม่ใช้ทางเลือกอื่นแทนการกัก ทั้งที่มีเอ็มโอยูไม่กักเด็กที่ติดตามผู้ใหญ่ที่ถูกกักตัวซึ่งไทยได้รับเสียงชื่นชม” นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ไทยควรสร้างห้องกักใหม่ เพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีมากขึ้น ทั้งนี้ห้องกักในไทย เช่นที่ สวนพลู มีผู้กักตัว 800 คน โดยคนที่ถูกกักตัวนานสุด ตั้งแต่ปี 2002 หรือ 23 ปี เป็นคนแถบแอฟริกา ดังนั้นคนที่เกี่ยวข้องควรตระหนักต่อการส่งชาวอุยกูร์กลับต้นทางที่เสี่ยงจะได้รับอันตราย ถูกบังคับสูญหาย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงและสร้างภาพลักษณ์ที่มีผลกระทบต่อไทยอย่างร้ายแรง ขอมติส่งข้อเสนอแนะไปยัง ครม. เพื่อปรับปรุงการทำงานของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการกักตัวคนต่างด้าวต่อไป

ขณะที่ นายนิรัตน์ อยู่ภักดี สว. อภิปรายว่าในที่ประชุม กมธ.ต่างประเทศมีมติจะติดตามเรื่องดังกล่าว และจากการหารือ เก็บไว้เป็นปัญหาของประเทศหนึ่ง ส่งกลับเป็นปัญหากับประเทศหนึ่ง ตนเข้าใจว่าการตัดสินใจของกระทรวงการต่างประเทศ เลือกสถานการณ์ที่เหมาะสมแต่ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริง ทั้งนี้ที่มีข้อกังวลต่อการทำความตกลงเอฟทีเอ กับ อียู สถานการณ์ปัจจุบัน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศน้อยลง ทำให้กระทรวงการต่างประเทศตัดสินใจทำในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดี กมธ.ต่างประเทศสรุปว่าจะติดตามเรื่องดังกล่าว ขณะนี้ให้รัฐบาลไปก่อน เพราะไม่อยากเห็นรัฐบาลจีนจัดฉาก จากนั้นจะทิ้งช่วงอีกระยะ และทำเรื่องถึงประธานเพื่อทำเรื่องไปเยี่ยมชาวอุยกูร์อีกครั้ง

ทั้งนี้ นางอังคณา กล่าวปิดญัตติ ว่า แทนที่รัฐบาลไทยจะเดินทางไปประเทศจีน ควรเผยแพร่ภาพและเสียงระหว่างที่นำชาวอุยกูร์ออกจากพื้นที่กักตัว และการพาตัวไป หากเขายินยอมและสมัครใจกลับจะทำให้ไทยชี้แจงกับต่างประเทศได้ แต่หากไม่เผยแพร่ภาพและเสียง จะเป็นเรื่องที่ไทยถูกครหาและอาจตั้งข้อกล่าวหาอีกนาน

นางอังคณา อภิปรายด้วยว่า ตนมีข้อเสนอแนะ ประเทศไทยมีการรับประกันว่าไม่ผลักดันชาวอุยกูร์สู่อันตราย กับคนที่ยังอยู่ 5 คนและให้ กมธ.ของรัฐสภาตรวจเยี่ยมคนต่างด้าวที่เข้าเมือง ทั้งนี้รัฐบาลต้องคัดกรองระบบคนต่างด้าวที่เข้าเมือง เพราะมีหลากหลาย บางคนเป็นอาชญากร เป็นผู้มีอิทธิพล สร้างความเดือดร้อนและหนีภัยความตาย ดังนั้นการมีระบบคัดกรองที่ดี จะแยกคนที่แสวงหาที่พักพิงโดยให้ไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สาม ซึ่งจะช่วยให้ไทยไม่ต้องมีผู้ลี้ภัย หรือคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายในห้องกัก

“รัฐบาลควรอนุญาตให้ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เข้าถึงการเยี่ยมอุยกูร์ในไทยและผู้ลี้ภัยชาติต่างๆ เพื่อแสดงความโปร่งใส การที่ไทยจะได้รับการยอมรับต้องแสดงความจริงใจ เชิญผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติอย่างเป็นทางการเพื่อดูการกักตัวผู้ลี้ภัย เพื่อให้ข้อเสนอแนะที่ดีต่อการปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” นางอังคณา อภิปราย

ทั้งนี้ นายมงคล ระบุว่า ข้อเสนอแนะและข้อสังเกตดังกล่าวจะส่งไปยังคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาต่อไป และกรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญและอยู่ในอำนาจของกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ศึกษาเพิ่มเติม.