เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 68 ที่โรงแรมรามา​การ์เด้นส์​ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการตรวจสอบทุจริตฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า ตัวเลขการร้องเรียนเรื่อง สว. มีทั้งหมด 577 เรื่อง มีการพิจารณาแล้ว 228 เรื่อง เสร็จสิ้นแล้ว 82 เรื่อง โดยมี 9 เรื่อง ที่ส่งฟ้องศาลฎีกา ล่าสุดในการพิจารณาเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำความผิดเลือก สว. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ตามมาตรา 77 (1) โดยระบุถึงการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือก สว. ไม่ว่าจะเป็น การให้ เสนอว่าจะให้ หรือการจัดเลี้ยง มีมติให้ส่งศาลฎีกาพิจารณาอีก 1 เรื่อง ทำให้ตอนนี้เหลือคำร้องที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 267 คำร้อง โดยอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของคณะอนุวินิจฉัย 107 เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการพยายามทำตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

เมื่อถามว่ากรณีผู้แทนกรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาร่วมทำงานด้วย จะทำให้การพิจารณาเร็วขึ้นหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ปกติเรารับเรื่องคำร้อง สว. มาโดยตลอด และคำร้องที่เกี่ยวพันกับมาตรา 77 (1) หรือเรื่องฮั้ว ซึ่งมี 220 เรื่อง ทาง กกต. ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบเอง ทำเสร็จแล้ว 115 เรื่อง ส่วนกรณีดีเอสไอ ซึ่ง กกต. มีมติเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา ให้รับเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ ทางนั้นแจ้งมาว่ามีเรื่องการกระทำฝ่าฝืน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ที่ประชุม กกต. จึงมีมติให้รับมาดำเนินการสอบสวน โดยถือว่าเป็นความปรากฏ พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง โดยเชิญผู้แทนดีเอสไอเข้ามาร่วมอีก 3 คน เชื่อว่าการทำงานร่วมกัน จะสามารถพิจารณาได้โดยไม่ชักช้า

เมื่อถามว่าตัวแทนจากดีเอสไอ 3 คน เข้ามาร่วมทำงาน จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่าง 2 หน่วยงาน ใช่หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ใช่ เพราะกฎหมายให้อำนาจตามมาตรา 42 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. เราสามารถขอให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นมาเป็นหนึ่งในกรรมการของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนได้ โดยกรอบการทำงานทุกเรื่องรวมถึงเรื่องฮั้ว จะมีกรอบการปฏิบัติหน้าที่ว่าควรจะเสร็จเมื่อไหร่ ซึ่งเราเคยมีประกาศออกมาเมื่อปี 2566 เรื่องกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานกระบวนการยุติธรรม ออกตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมที่กำหนดว่า ในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ กกต. จะเริ่มจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ยาวที่สุดไม่เกิน 90 วัน หลังจากนั้นจะนำเรื่องเข้ามาที่สำนักงาน กกต.ส่วนกลาง นำโดยเลขาธิการ กกต. ซึ่งจะมีเวลาอีก 60 วัน และไปที่อนุกรรมการวินิจฉัย ตรงนี้ก็จะมีเวลาอีก 90 วัน โดยอาจจะมีการสอบสวนเพิ่ม ให้โอกาสพยานเข้ามาให้ถ้อยคำ รวมแล้วระยะเวลาทั้งหมดไม่ควรจะเกิน 1 ปี ที่จะต้องเสนอให้ที่ประชุม กกต. พิจารณา

“กกต. มีหน้าที่ชัดเจนว่า คำร้องใดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้องกับ กกต. เป็นงานของเรา ส่วนการกระทำที่เกิดขึ้น หากเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอื่น ซึ่งไม่ใช่กฎหมายเลือกตั้ง ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งจากข่าวประชาสัมพันธ์ของดีเอสไอระบุว่า หากในการทำงานของดีเอสไอ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยกันได้มาซึ่ง สว. เขาก็จะแจ้งมาที่ กกต. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป เพราะฉะนั้นการดำเนินงานจะไม่มีความซับซ้อนกัน จะมีแต่การส่งเสริมกัน” ประธาน กกต. กล่าว

เมื่อถามว่าคำร้องของ กกต. และดีเอสไอ มีส่วนไหนที่เป็นคำร้องเดียวกัน หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า คำร้องดีเอสไอ มีอยู่ 3 เรื่อง แต่มาร้องที่เรา ที่รับมาแล้วเฉพาะมาตรา 71 (1) มี 200 กว่าเรื่อง เพราะฉะนั้นในส่วนของดีเอสไอ ได้รับคำร้องและตรวจสอบแล้ว เห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย การเลือก สว. เขาจึงแจ้งให้ กกต. ทราบ ซึ่งอำนาจหน้าที่ของ กกต. ดูเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. จึงรับมาสอบสวน.