เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม (วิป) ประกอบด้วย วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และ ครม. เพื่อหารือเรื่องกรอบเวลาในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องเกิดขึ้น เพราะเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลสำคัญ โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 24-26 มี.ค. นี้ ซึ่งในวันอภิปราย 24-25 มี.ค. จะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป อภิปรายจนถึงเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันที่ 25 มี.ค. แล้วจะนัดลงมติวันที่ 26 มี.ค. โดยกำหนดกรอบเวลาการอภิปราย แบ่งเป็น ฝ่ายค้าน 28 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลรวมกับ ครม. 7 ชั่วโมง และประธานที่ประชุม 2 ชั่วโมง
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ยังมีเงื่อนไขสำคัญที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน จากที่ผ่านมา มีบางเหตุการณ์ประท้วงกันจนฝ่ายค้านไม่สามารถอภิปรายต่อได้ ทำให้ใช้เวลายังไม่หมด หากมีการบีบเวลาว่ายังไงต้องลงมติในวันที่ 26 มี.ค. ดังนั้นในการอภิปรายวันสุดท้ายวันที่ 25 มี.ค. ถ้าเวลาฝ่ายค้านยังไม่หมด อภิปรายไม่ครบ อาจนำไปสู่เหตุการณ์อภิปรายนอกสภาเหมือนที่ผ่านมา จึงตกลงร่วมกัน ในการอภิปรายวันสุดท้าย หากเวลาของฝ่ายค้านยังไม่หมด ต่อให้จะใช้เวลาเกินเที่ยงคืน ก็จะใช้เวลาต่อไปให้เต็มโควตา หากเกินเที่ยงคืนไปแล้ว ก็อาจจะต้องไปลงมติในวันที่ 27 มี.ค. เบื้องต้นตกลงกันแล้วทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ครม. จะไม่ประท้วงพร่ำเพรื่อ และไม่มีเหตุผล ทุกฝ่ายพยายามให้การอภิปรายครั้งนี้ราบรื่นที่สุด
เมื่อถามว่าจะมีการหารือกันในฝ่ายค้านหรือไม่ว่า จะลดการอภิปรายพาดพิงถึงบุคคลภายนอกเพื่อลดแรงประท้วง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในญัตติมีระบุอยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ระบุชื่อ แต่การพูดถึง หรือเอ่ยถึงอะไรเป็นอีกเรื่อง คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงบุคคลภายนอก เพราะระบุในญัตติอยู่แล้ว ตนไม่สามารถไปสั่งการ หรือแทรกแซงเนื้อหาของพรรคอื่นได้ ทุกพรรคมีเอกสิทธิ์เต็มที่ในการอภิปรายตามเนื้อหาเตรียมมา
เมื่อถามว่าแต่มันก็เป็นไปได้ว่า หากมีการอภิปรายพาดพิงบุคคลภายนอก สส.รัฐบาล ก็อาจมีการประท้วง นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เป็นเหตุผลที่เรามีเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน ทางฝ่ายรัฐบาล และ ครม. ก็ได้ขอโควตาเวลาเผื่อการประท้วงไว้แล้ว ฝ่ายค้านเห็นด้วย ก็จะได้บริหารจัดการเวลาให้อยู่ในกรอบ หากเห็นว่าจะต้องมีการประท้วงกันจริงๆ ก็ข้ามไปลงมติในวันที่ 27 มี.ค.
ด้านนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะตัวแทนฝ่าย ครม. กล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาล และ ครม. พยายามจะใช้เวลาทั้งการประท้วงของ สส.รัฐบาล วันละ 1 ชั่วโมง ทั้ง 2 วัน ขณะที่เวลาในการชี้แจงของนายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีใน ครม. ที่ถูกพาดพิง จะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง โดยในวันแรกจะใช้เวลาอภิปรายประมาณ 10 ชั่วโมง อภิปรายจนถึงวันที่ 25 มี.ค. เวลาประมาณ 23.30 น. และลงมติในวันที่ 26 มี.ค. เวลา 10.00 น. ซึ่งก็ได้กำชับฝ่ายค้านไปว่า ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรพาดพิงบุคคลภายนอก ควรอภิปรายนายกฯ ตรงๆ
ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การอภิปรายต้องบริหารให้อยู่ในกรอบเวลา อาจใช้น้อยกว่าที่กำหนด หรือเสร็จเร็ว หากบรรยากาศไม่มีการประท้วงหนักเกินไป และทุกฝ่ายบริหารเวลาได้ อย่างไรก็ดี กรอบเวลาที่ได้ตกลงมีความชัดเจน ทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ทุกฝ่ายต้องรักษากติกา อยู่ในกรอบ 2 วัน หากไม่รักษากติกา จะต้องเพิ่มไปอีก 1 วัน.