สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองกลาโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ว่า ผ่านมาครึ่งทางแล้ว สำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( ยูเอ็นเอฟซีซีซี ) ครั้งที่ 26 หรือ “คอป 26” ที่เมืองกลาสโกว์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของสกอตแลนด์

แบนเนอร์การจัดงานประชุมเรื่องโลกร้อน “คอป 26” ที่เมืองกลาสโกว์ ในสหราชอาณาจักร


ทั้งนี้ หนึ่งในหัวข้อหลักของการประชุม ยังคงเกี่ยวกับ “ความจำเป็นอย่างยิ่ง” ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยบนโลก ไม่ให้มากเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมีพื้นฐานมาจากข้อตกลงปารีส ที่ประชาคมโลกลงนามร่วมกันเมื่อปี 2558 ขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนเป็นเสียงเดียวกันว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ความแปรปรวนของสภาพอากาศโลกจะเพิ่มมากขึ้น และมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทุกแขนงของระบบนิเวศ


ด้วยเหตุนี้ ทุกฝ่ายจึงร่วมกันกำหนดแนวทางเพิ่มเติม นั่นคือ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อีกครึ่งหนึ่งจากระดับของปี 2553 ภายในปี 2573 และเดินหน้าสู่ “การเป็นกลางทางคาร์บอน” หรือ “คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ภายในปี 2593
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกของเราร้อนขึ้นประมาณปีละ 1.1 องศาเซลเซีนส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยทุก 10 ปี ในรอบ 4 ทศวรรษล่าสุด อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นกว่าทุกทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 2393


รายงานโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ( ไอพีซีซี ) ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ( ดับเบิลยูเอ็มโอ ) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นอีพี ) ระบุว่า ภายในรอบ 1 ทศวรรษ ความแปรปรวนและปั่นป่วนของสภาพอากาศโลกสามารถเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องอาศัยอิทธิพลของมนุษย์ “อย่างน้อย 1 ครั้ง”

แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 ครั้งใน 1 ทศวรรษ หากโลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และเพิ่มขึ้นเป็น 5.6 ครั้งใน 1 ทศวรรษ หากโลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส ขณะที่หากโลกร้อนขึ้นมากถึง 4 องศาเซลเซียส ภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นเองมากถึง 9.4 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี

ชายคนหนึ่งเดินผ่านแผ่นป้ายสื่อถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบนโลก ในงานประชุมคอป 26 ที่เมืองกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์


นอกจากนี้ หากโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส 70% ของแนวปะการังบนโลกจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้ และจะยิ่งเลวร้ายกว่านั้น คือ มากกว่า 99% ของแนวปะการังบนโลกจะไม่สามารถอยู่รอด หากโลกร้อนขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส และจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแถบนั้นทั้งหมด ซึ่งต้องพึ่งพิงแนวปะการังด้วย.

เครดิตภาพ : AP, REUTERS