เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่บ้านคลองลำใน หมู่ 6 ต.ท่าเคย อ.ท่าฉาง จ. สุราษฎร์ธานี หลังได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ ว่าได้รับความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างของกรมชลประธาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดำเนินการก่อสร้างมานานกว่า 10 ปี แต่โครงการไม่แล้วเสร็จ ทำให้ชาวบ้าน ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่การก่อสร้างประตูระบายน้ำท้ายโครงการ ร่วม 250 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนจากประตูระบายน้ำที่ไม่สามารถเปิดปิดได้ ทำให้น้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และปัญหาน้ำเค็มเข้าพื้นที่เกษตรในฤดูแล้ง มีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย กว่า 20,000 ไร่
ทั้งนี้มีนายณรงค์ ดุษฎี ประธานชมรมผู้ได้รับผลกระทบ จากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จ.สุราษฎร์ธานี นายศิริวัฒน์ เพชรคง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.ท่าเคย และชาวบ้าน นำผู้สื่อข่าวตรวจสอบบริเวณสถานที่ตั้งประตูระบายน้ำ ซึ่งก่อสร้างกั้นคลองลำใน โดยลักษณะของการก่อสร้างได้มีประตูระบายน้ำจำนวน 5 บาน และในบริเวณที่โล่งใกล้ประตูระบายน้ำ พบมีการก่อสร้างอาคารแบบชั้นเดียว แต่มีสภาพทรุดโทรม แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการใช้งานมานานแล้ว และยังมีชาวบ้านนำวัวไปเลี้ยง ทำให้บริเวณภายในอาคารเต็มไปด้วยขี้วัว

นายณรงค์ กล่าวว่า ตนมีอาชีพทำสวนปาล์มน้ำมัน ก่อนหน้านี้ทราบว่ากรมชลฯ ได้มีโครงการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ครอบคลุมในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.คีรีรัฐนิคม พุนพิน และท่าฉาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านปริมาณและคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำพุมดวง และตาปี ให้สามารถใช้น้ำจากคลองพุ่มดวงเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคของราษฎรในพื้นที่เป้าหมาย โดยจะมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำจากคลองชลประทาน เพื่อรองรับฤดูน้ำหลาก และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ที่บริเวณบ้านคลองลำใน
ขณะนั้นเราไม่ทราบว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมีปัญหาและไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามแผนงานได้ แต่ก็ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ราวปี 58 ต่อเนื่องปี 59 จนแล้วเสร็จเมื่อประมาณปี 61 รวมทั้งมีการขุดขยายครองลำในบริเวณหน้าประตูระบายน้ำ ระหว่างที่มีการก่อสร้างพวกเราดีใจมาก ที่จะได้น้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อการเกษตร และการสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นคลองลำใน ก็จะไม่มีน้ำเค็มไหลเข้ามาตามคลองในช่วงน้ำทะเลหนุน แต่ในช่วง 7-8 ปี ที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ นอกจากชาวบ้าน จะไม่ได้ประโยชน์จากระบบชลประทานแล้ว ยังได้สร้างความเดือดร้อน เนื่องจากประตูระบายน้ำไม่สามารถเปิดปิดได้ ทำให้ในฤดูน้ำหลากมีน้ำท่วมขังนานร่วม 2 เดือน สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านที่อยู่เหนือประตูระบายน้ำ เราเคยร้องเรียนและขอให้ชลประทาน เข้าแก้ไขปัญหา แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับ กลับมีโครงการจะก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มอีก 1 จุด ห่างจากจุดเดิมไปทางต้นน้ำอีกประมาณ 5 กม. ซึ่งหากมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำอีกตัว จะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ที่อยู่เหนือประตูระบายน้ำคลองลำใน กว่า 20,000 ไร่ ต้องจมอยู่ในน้ำเค็ม นายณรงค์ กล่าว

นายณรงค์ กล่าวด้วยว่า จากปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ และที่ผ่านมาเราได้พยายามให้กรมชลประทาน เข้ามาแก้ไข แต่กลับได้อ้างถึงเหตุ โครงการ พัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง ที่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ พวกเราซึ่งได้รับความเดือดร้อน จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังวุฒิสภา และเข้าร้องทุกข์ต่อสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 8 ให้ตรวจสอบว่าโครงการก่อสร้างดังกล่าวเป็นไปด้วยความสุจริตหรือไม่ ทราบว่ามีการใช้เงินงบประมาณไปแล้วกว่า 3,300 ล้านบาท แทนที่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ กลับต้องได้รับความเสียหายจากโครงการดังกล่าว ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างที่เกิดจากการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ประตูระบายน้ำแห่งนี้ เป็นเหมือนหนึ่งในอนุสาวรีย์ ที่บ่งบอกถึงความผิดพลาดในการใช้งบประมาณของรัฐ
ขณะที่ นายศิริวัฒน์ เพชรคง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.เคย กล่าวว่า ตนเพิ่งมาดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้เมื่อประมาณ 2 ปี ซึ่งการก่อสร้างประตูระบายนี้ เสร็จเรียบร้อยเรียบร้อยแล้ว และไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่ของชลประทาน มาดูแลประตูระบายน้ำ เพียงแต่ตนได้รับมอบอุปกรณ์มือหมุนสำหรับเปิดปิดประตูระบายน้ำจากผู้ใหญ่บ้านคนก่อน จนเมื่อเกิดน้ำท่วมเมื่อปลายปี 67 พบว่าประตูระบายน้ำดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากตั้งอยู่ในระดับเดียวกันกับด้านล่างของประตูระบายน้ำ รวมถึงไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำได้ เพราะประตูระบายน้ำเกือบทั้งหมดชำรุดเสียหายจากการไม่ได้ใช้งานมาเป็นเวลานาน

สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จ. สุราษฎร์ธานี เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการต่อเนื่องตามแผนงานของกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 52 กำหนดแล้วเสร็จ ปี 59 ระยะเวลา 8 ปี วงเงินงบประมาณ 3,330 ล้านบาท ก่อสร้างระบบคลองส่งน้ำ โดยการสูบน้ำจากคลองพุมดวง ที่สถานีสูบน้ำ ต.ท่ากระดาน อ.คีรีรัฐนิคม และก่อสร้างคลองส่งน้ำ จำนวน 2 สาย ครอบคลุมพื้นที่ ต.บางงอน, น้ำรอบ, หนองไทร, พุนพิน, หัวเตย, ท่าข้าม, ศรีวิชัย, ลีเล็ด อ.พุนพิน ต.คลองไทร, ลีเล็ด อ.ท่าฉาง รวมระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยระบุปัญหามาจากการเวณคืนที่ดินบางแปลงมีปัญหา คณะรัฐมนตรีจึงได้ขยายระยะเวลาโครงการ เมื่อปี 60 ออกไปเป็นระยะเวลา 13 ปี กำหนดแล้วเสร็จ ปี 64
ปัจจุบันการก่อสร้างในส่วนของผู้จ้างเหมา ที่มีบริษัทสี่แสงการโยธา จำกัด เป็นผู้รับจ้างวงเงิน 1,328.11 บาท ประกอบด้วยสถานีสูบน้ำ และครองลำเลียงน้ำสายที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานเมื่อ 23 พ.ย. 65
ขณะที่งานคลองส่งน้ำประกอบอาคาร เส้นที่ 2 ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทาน ใช้วงเงินงบประมาณ ดำเนินการได้เพียงร้อยละ 75 และมีรายงานว่า สำนักก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 16 ได้ส่งมอบงานให้ชลประธานจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียบร้อยแล้ว โดยใช้งบประมาณ 1,789.55 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 817.23 ล้านบาท ระบบส่งน้ำสายที่ 2 จำนวน 212.34 ล้านบาท ระบบระบายน้ำ 616.58 ล้านบาท ค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน 36.47 ล้านบาท และค่าก่อสร้างส่วนประกอบอื่น 319.27 ล้านบาท.