“การจัดฟัน” เป็นวิธีช่วยจัดเรียงแนวฟันในช่องปากให้เป็นระเบียบสวยงาม แก้ไขปัญหาความผิดปกติของฟันและช่องปากให้ดีขึ้น การจัดฟันจึงยังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน
“คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล” บอกเล่าเกร็ดความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดฟัน ว่า เป็นการจัดเรียงฟันและขากรรไกรที่อยู่ผิดตําแหน่งให้กลับมาอยู่ในตําแหน่งที่ถูกต้อง โดยมีเป้าหมาย 3 อย่าง ได้แก่
1.เพื่อให้บดเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น ฟันที่สบได้ไม่ดีอาจมีผลต่อการเคี้ยวอาหาร การจัดฟันช่วยทำให้ฟันสบกัน และเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น
2.เพิ่มความสวยงาม เมื่อจัดฟันแล้วฟันจะเรียงตัวสวยขึ้น ส่งผลต่อความมั่นใจ ช่วยสร้างบุคลิกภาพที่ดี
3.ช่วยให้ทำความสะอาดฟันได้ง่ายขึ้น ฟันที่เรียงตัวไม่เป็นระเบียบมักยากต่อการทำความสะอาด และอาจเกิดฟันผุได้ง่าย ทันตแพทย์มักแนะนำให้คนไข้จัดฟัน เนื่องจากเป็นเคสที่คนไข้ส่วนมากมักไม่รู้ตัว

ใครบ้างที่ควรจัดฟัน
@ คนที่มีฟันซ้อน เก ฟันเบียดแน่น ฟันห่าง ที่ยากต่อการแปรงฟัน หรือชอบมีเศษอาหารติดตามซอกฟัน
@ คนที่ฟันสบกันไม่พอดี เช่น มีฟันสบลึก คือฟันล่างคร่อมบน หรือมีฟันสบอ้า คือมีช่องว่างระหว่างฟันหน้าบนกับฟันหน้าล่าง ทําให้กัดเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ได้
@ คนที่ต้องการมีฟันสวย คนไข้บางรายอาจมีฟันซ้อนหรือเกเพียงเล็กน้อย แต่รู้สึกไม่มั่นใจ การจัดฟันทำให้ฟันเรียงตัวสวยขึ้น ช่วยปรับบุคลิกภาพ เพิ่มความมั่นใจได้
ช่วงอายุที่เหมาะสำหรับการจัดฟัน
อายุที่เหมาะสมในการจัดฟัน คือ วัยรุ่นอายุ 14 ปีขึ้นไป จนถึงวัยทำงานตอนต้น เพราะเมื่อกระดูกยังอ่อน ทำให้การจัดฟันง่ายกว่าในวัยผู้ใหญ่ ส่วนเด็กที่พบความผิดปกติ ทันตแพทย์มักแนะนำให้จัดฟันตั้งแต่เนิ่นๆ อาจทำได้ตั้งแต่อายุ 8 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่สามารถจัดฟันได้เช่นเดียวกัน แต่อาจใช้ระยะเวลานานกว่า เพราะฟันเคลื่อนได้ช้ากว่า

ปัจจัยที่ส่งผลต่อระยะเวลาในการจัดฟัน
1.ความยากง่าย คนไข้ที่พบความผิดปกติมากต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขนาน จากเดิมในเคสทั่วไปโดยเฉลี่ย 2-3 ปี อาจต้องใช้เวลามากถึง 4-5 ปีก็เป็นได้
2.อายุของคนไข้ อายุมีผลต่อการเคลื่อนของฟัน การจัดฟันในเด็กทำง่ายกว่าในวัยผู้ใหญ่
3.ความร่วมมือของคนไข้ คนไข้ต้องมาพบทันตแพทย์ทุกเดือนเพื่อตรวจเช็กความผิดปกติต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนยางและลวด อีกทั้งยังต้องรักษาความสะอาดของปากและช่องฟัน รวมถึงเครื่องมือจัดฟันอย่างดีด้วย
4.ความสามารถของทันตแพทย์ การเลือกทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญช่วยให้วางแผนการรักษาได้ดี และบรรลุเป้าหมายได้เร็ว
4 ความเชื่อเรื่องการจัดฟัน
หลายคนอาจเคยได้ยินความเชื่อที่แชร์ต่อกันมาเกี่ยวกับการจัดฟัน ความเชื่อเหล่านี้เรื่องไหนจริงหรือหลอก
ความเชื่อที่ 1 จัดฟันทำให้หน้าเรียวเล็กลง
จริงบางส่วน เพราะสาเหตุที่ทำให้ใบหน้าเราดูใหญ่มี 3 อย่าง คือ กระดูก กล้ามเนื้อ และไขมัน การจัดฟันส่งผลต่อกล้ามเนื้อบดเคี้ยวเป็นหลัก คนไข้อาจเคี้ยวอาหารได้น้อยลง ใบหน้าจึงดูเรียวขึ้นจากกล้ามเนื้อที่เล็กลง แต่ไม่ได้ส่งผลต่อกระดูกหรือไขมัน

ความเชื่อที่ 2 จัดฟันตอนเด็กได้ผลดีกว่าผู้ใหญ่
จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถจัดฟันได้ ทั้งนี้ การจัดฟันในเด็กมักได้ผลเร็วกว่า เนื่องจากกระดูกยังอ่อน ฟันจึงเคลื่อนได้เร็ว หากผู้ใหญ่จัดฟันต้องใช้ระยะเวลานานกว่า
ความเชื่อที่ 3 จัดฟันทำให้ผอมลง
ไม่จริง คนที่จัดฟัน แต่ยังรับประทานเยอะเป็นปกติอาจทำให้อ้วนได้ บางรายน้ำหนักขึ้นหลังจัดฟัน เพราะเลี่ยงไปรับประทานอาหารอ่อน ของหวานจำพวกเบเกอรี ขนมปัง แทนที่จะรับประทานอาหารตามปกติ
ความเชื่อที่ 4 จัดฟันที่ไหนก็ได้ ไม่อันตราย
ไม่จริง การจัดฟันกับคนที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ ทำให้ฟันเรียงตัวผิดรูป หรือเกิดฟันผุได้ จึงควรเลือกจัดฟันกับทันตแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 2 ปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรักษา
คำแนะนําในการดูแลช่องปากเมื่อจัดฟัน
1.ดูแลรักษาความสะอาดช่องปาก ควรดูแลความสะอาดให้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้เหล็กจัดฟันติดแน่น เพราะเครื่องมือจัดฟันทำให้แปรงฟันได้ยากขึ้น จากเดิมที่เคยแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง อาจเพิ่มเป็น 3 ครั้งในตอนกลางวันก็ได้
2.มาพบทันตแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็ก และปรับเครื่องมือให้แรงเคลื่อนฟันอย่างต่อเนื่อง
3.ระมัดระวังไม่ให้เครื่องมือหลุดเสียหาย หากคนไข้รับประทานอาหารไม่ระวัง เหล็กอาจหลุดออกมาได้ ทำให้ฟันเคลื่อนสะเปะสะปะ ส่งผลให้การรักษาช้าลง
4.ใส่รีเทนเนอร์เมื่อจัดฟันเสร็จ การใส่รีเทนเนอร์เป็นการคงสภาพฟันไว้ตามเดิม ระยะเวลานานแค่ไหนขึ้นอยู่กับทันตแพทย์เป็นผู้พิจารณา บางเคสอาจต้องใส่ตลอดชีวิต
หากพบความผิดปกติของฟันที่ส่งผลต่อการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต หรือความมั่นใจ ควรปรึกษาทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป.