สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ว่านายอิบราฮิม ราซูล เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติในเมืองเคปทาวน์ เมื่อวันอาทิตย์ โดยกล่าวว่า การเดินทางกลับครั้งนี้ “ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ” อย่างไรก็ตาม ราซูลยืนยันว่า “ไม่เสียใจ” ที่ต้องเดินทางกลับ
ทั้งนี้ นายมาร์โก รูบิโอ รมว.การต่างประเทศสหรัฐ กล่าวเมื่อช่วงกลางเดือนนี้ ว่าราซูล มีสถานะเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา และรัฐบาลวอชิงตันไม่มีความจำเป็นต้องหารือกับบุคคลดังกล่าวอีกต่อไป พร้อมทั้งประณามว่า เอกอัครราชทูตเป็นบุคคลที่ “เล่นกับประเด็นทางเชื้อชาติเพื่อหวังผลทางการเมือง” และ “มีความเกลียดชังต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ”
[BREAKING NEWS] Ambassador Ebrahim Rasool arrives back in SA after his expulsion from the United States. #Newzroom405 pic.twitter.com/I6LwbUiobW
— Newzroom Afrika (@Newzroom405) March 23, 2025
แม้ในเวลานั้น รูบิโอไม่ได้ใช้คำว่า “เนรเทศ” อย่างเป็นทางการ แต่แถลงการณ์ของรัฐบาลวอชิงตันสื่อความหมายไปในทางนั้นโดยปริยาย ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นแทบไม่บ่อยครั้งนัก กับการที่สหรัฐจะเนรเทศเอกอัครราชทูตของประเทศใดประเทศหนึ่ง
[LIVE NOW ????] "It was not our choice to come home but we come home with no regrets,' says Ambassador Ebrahim Rasool. Rasool is speaking to his supporters outside Cape Town International Airport. Tune in to #eNCA #DStv403 #QuestionThinkAct pic.twitter.com/rfWHF046O2
— eNCA (@eNCA) March 23, 2025
อนึ่ง ราซูลมอบอักษรสาส์นตราตั้งให้แก่สหรัฐเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของรัฐบาลวอชิงตันในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเป็นครั้งที่สองแล้ว ซึ่งราซูลได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐ
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับแอฟริกาใต้ตึงเครียดอย่างหนัก เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งสมัยที่สอง เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการตัดงบประมาณสนับสนุนแอฟริกาใต้ เพื่อแสดงความไม่พอใจที่มีการออกกฎหมายที่ดินโดยไม่มอบเงินชดเชยให้กับชาวผิวขาว ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และการที่แอฟริกาใต้ฟ้องอิสราเอลต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก ในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์.
เครดิตภาพ : AFP