เมื่อเวลา 08.20 น. วันที่ 24 มี.ค. 68 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่ง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ จำนวน 165 คน ได้ยื่นเสนอ

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงข้อบังคับการประชุมต่อการอภิปรายในญัตติดังกล่าว ซึ่งได้ย้ำถึงการอภิปรายของฝ่ายค้านและการตอบชี้แจงที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีสิทธิตอบชี้แจง รวมถึงต้องอภิปรายในกรอบข้อบังคับ หากมีการผิดข้อบังคับ สมาชิกที่อภิปรายต้องรับผลของการกระทำ และตามกรอบของจริยธรรมซึ่งการกล่าวถ้อยคำที่ผิดกฎหมายต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือ สส. คนที่อภิปราย จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

“ทั้งนี้ การอภิปรายที่เสนอว่ามีชื่อของนายกรัฐมนตรีคนเดียวนั้น แต่การอภิปรายหากพาดพิงไปถึงรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรี​มอบหมายงานให้สามารถชี้แจงได้ หากพาดพิงรัฐมนตรีที่เสียหายชี้แจงได้ ทั้งนี้ ต้องยึดญัตติดังกล่าวที่เสนอมา” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

จากนั้นเวลา 08.37 น. นายณัฐพงษ์ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลุกขึ้นแถลงญัตติ ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์อันไม่อาจไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินได้อีกต่อไป เพราะไม่มีคุณสมบัติ ไม่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารทั้งปวง ทั้งขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถ จงใจลอยตัวเหนือปัญหา ไม่มีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ เพียงเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตน ครอบครัว พวกพ้องเป็นตัวตั้ง อยู่เหนือผลผระโยชน์ส่วนรวม อีกทั้งไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เอาเปรียบประชาชน สังคม หลอกลวง ไม่ดำเนินนโยบายที่สัญญากับประชาชน เป็นนั่งร้านตอบแทนกลุ่มบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย บริหารบ้านเมืองผิดพลาด ล้มเหลว ทั้งการเมือง ปฏิรูปกองทัพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ทำลายนิติรัฐทำลายระบอบประชาธิปไตย

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เจตนาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อผลประโยชน์จากพวกพ้องและกลุ่มทุน แต่งตั้งบุคคลที่ขาดความเหมาะสม ขาดความรู้ ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งสำคัญอื่น และยังยินยอมให้บุคคลในครอบครัว ชี้นำยักษ์ใหญ่เรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ประพฤติตนเป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด โดยมีบุคคลในครอบครัวเป็นนายกฯ ตัวจริง ที่ไม่รับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ จากพฤติกรรมดังกล่าว ฝ่ายค้านไม่สามารถปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป ย่อมนำความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนที่ยากจะแก้ไขเยียวยา

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค. ปี 2566 ประชาชน 40 ล้านคน เข้าคูหาเลือกตั้งด้วยความหวังเชื่อเชื่อมั่นศรัทธา ว่ารัฐสภาแห่งนี้จะแก้ไขปัญหา เพื่อหยุดทศวรรษแห่งความสูญเปล่า และยืนยันสิทธิว่าพอกับ 9 ปีที่ถูกลิดรอนสิทธิพลเมือง ถูกขโมยโอกาสถูกกดขี่คุณภาพชีวิต แต่ผ่านมา 2 ปี จนถึงวันนี้ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม รัฐบาลที่มาจากวันนั้น ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร การบริหารราชการแผ่นดินถูกขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ของกลุ่มพวกพ้อง ใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินสะเปะสะปะ ปล่อยปละละเลยชีวิตประชาชน เผชิญกับปัญหา ตั้งแต่ปัญหาไฟป่าจนถึงปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ปัญหาทุนเทาไปจนถึงปัญหาชายแดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ ปัญหาการศึกษา ไปจนถึงการขาดขีดความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาปากท้อง ค่าไฟแพง รวมถึงปัญหาด้านการเกษตร ปลาหมอคางดำ การทุจริตคอร์รัปชั่น ทุกวันนี้ยังเจอปัญหาแบบเดิม

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า โดยอ้างอิงว่าประชาชนยังไม่มีผู้นำที่มีคุณสมบัติเพียงพอในการหาทางออกให้กับประเทศ ทั้งที่การเลือกตั้งปี 2566 ประชาชนส่วนใหญ่ลงมติว่าต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่คำตอบที่อธิบายทุกอย่างได้ เพราะรัฐบาลชุดนี้เริ่มต้นดำรงอยู่และเดินหน้าต่อเพื่อให้เกิด “ดีลแลกประเทศ” โดยผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตรและครอบครัวเป็นแกนกลาง และมีผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใกล้ชิดเครือข่ายการเมืองเป็นแกนรอง ส่วนประเทศและประชาชน ต้องรอใกล้วันเลือกตั้งค่อยปรับบทละคร

“ถ้านายกรัฐมนตรีคิดว่าแบบนี้ประชาชนเขารู้ไม่ทันหรือ พฤติกรรมที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาจนถึงสมัยคุณแพทองธาร ชินวัตร ที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพื่อไทยยอมเป็นนั่งร้าน ให้กับกลุ่มอำนาจเดิมเพื่อใคร เพื่อคนตระกูลชินวัตรใช่หรือไม่ เพื่อให้บุคคลในครอบครัวและกลุ่มอำนาจรัฐบาล ให้บริวารได้เป็นรัฐมนตรี ถึงเวลานี้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่พวกเขาสงสัยไม่เป็นความจริง รัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้เป็นนั่งร้านให้กับใคร เพราะอันที่จริงพวกเขาหลอมรวมเป็นพวกเดียวกันทั้งหมดไปแล้ว” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ทำงานร่วมกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย ไม่เกี่ยวกับเจนเนอเรชั่นหรือภูมิหลัง เพราะใช้วิธีจัดการผลประโยชน์ที่เหมือนกัน ต่อรองผ่านสนามกอล์ฟ ใช้อำนาจเปลี่ยนดำเป็นขาว เช่นเดียวกันรู้ช่องทางการทำมาหากินผ่านระบบราชการ หรือพูดอีกอย่างคือนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาล พูดภาษาเดียวกัน และเล่นเกมเดียวกันตั้งแต่แรก ประชาชนสังเกตได้ไม่ยาก เรื่องไหนที่สามารถเดินหน้ารวดเร็วได้ผิดปกติ ไม่สนคำทักท้วง รีบผลักดัน คือเรื่องที่ดีลผลประโยชน์

“อย่างเช่นเรื่องเอ็นเตอร์เทนคอมเพล็กซ์ ที่กลายเป็นวาระเร่งด่วน ให้ความสำคัญเหนือการแก้ไขปัญหาชาวนา หรือการพัฒนาการศึกษาเพื่อเยาวชน ท่านนายกรัฐมนตรี จากวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่สื่อมวลชนตั้งคำถามว่า รู้สึกอย่างไรกับคำว่า “ดีลแลกประเทศ” ตั้งชื่อให้จากการอภิปรายครั้งนี้ หากจำได้ตอบว่าอย่างไร ท่านถามกลับว่า ตระกูลชินวัตรได้อะไร สื่อมวลชนอธิบายตอบว่าได้คุณทักษิณกลับบ้านไง ท่านนายกฯ ตอบคำถามต่อว่า ได้คุณพ่อกลับมา อ๋อ คงเป็นเรื่องนี้เรื่องเดียวตลอดไป ชัดเจนดี อย่างน้อยนายกรัฐมนตรีก็รับตรงๆ โดยไม่ปฏิเสธว่าดีลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ เพื่อพาคุณพ่อกลับบ้านจริงๆ เพราะถ้าหากไม่เกี่ยวสัญชาตญาณแรกของการตอบคำถามก็ต้องปฏิเสธทันที แต่นี่ไม่ได้ปฏิเสธใดๆ แต่วันนี้อยากชวนนายกรัฐมนตรีสนทนาต่อว่าดีลแลกประเทศ ยังรวมถึงเรื่องอื่นๆที่คนไทยต้องแลกด้วยผลประโยชน์ของประเทศมากมายมหาศาล ภายดีลนี้” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ผ่านไป 2 ปี การเริ่มต้นและตั้งอยู่ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ทำให้ประเทศไทยต้องจ่ายต้นทุนราคาแพง ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยชี้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศถดถอยลง ถูกจัดอยู่ในประเทศที่ประชาธิปไตยบกพร่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่คืบหน้า ถูกนานาประเทศประณามกรณีส่งชาวอุยกูร์กลับจีน นายกรัฐมนตรีกำลังทำให้ประชาธิปไตยเสื่อมถอยลงภายใต้เปลือกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในมุมเศรษฐกิจดูดเผินๆ เหมือนได้รัฐบาลที่เก่งเศรษฐกิจ พายุหมุนทางเศรษฐกิจไม่เคยเกิดขึ้น เพราะไม่ได้ทำการบ้านล่วงหน้า จากที่เคยคุยไว้ได้ร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 ได้เพียงครึ่งเดียวของคำโฆษณา แต่ทิ้งไว้ด้วยสิ่งที่สังคมไทยต้องจ่ายมากมายมหาศาล ปัญหาของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาไม่ยอมรับ สมัยไทยรักไทยได้รับประโยชน์จากปัจจัยภายนอก ไม่ได้เก่งด้วยตัวเอง วิกฤติต้มยำกุ้งได้นโยบายที่กองอยู่บนโต๊ะไปสานต่อ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การกระจายเม็ดเงินสู่รากหญ้า เงินบาทอ่อนตัวช่วยให้การส่งออกโตก้าวกระโดด น่าเสียดายเมื่อเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นโยบายที่เคยกองบนโต๊ะตอนนี้ไม่มีแล้ว

“ในแง่การบริหารประเทศ การได้นายทักษิณกลับมา ดูเหมือนประเทศไทยกำลังได้ผู้นำแพ็กคู่ คนหนึ่งดูดีมีประสบการณ์ คนหนึ่งเดินสายทำงานนอกทำเนียบ โชว์เวอร์ชั่นใหม่แทบทุกเวที ส่วนอีกคนอยู่ในตำแหน่งเป็นคนรุ่นใหม่ทำงานในทำเนียบ พร้อมประสานทำงานกับคนรุ่นเก่า ไม่ต่างกับด้านการเมืองเศรษฐกิจที่ได้กล่าวไป ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้น กำลังมีผู้นำนอกระบบที่ทำงานนอกทำเนียบ เป็นคนชี้นำวาระ เป็นคนให้ข้อมูลให้นโยบายนำหน้ารัฐบาล โดยปราศจากความรับผิดชอบใด เพราะไม่ต้องถูกถ่วงดุลตรวจสอบ” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกัน วันหนึ่งเคยบอกจะให้ค่าไฟ 3.70 บาท แต่ไม่เคยเกิดอะไรขึ้น ผ่านมา 2 เดือน บอกจะลดค่าไฟให้เหลือ 2.50 บาท ราคาค่าไฟลดเร็วพอกับความน่าเชื่อถือ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น กลายเป็นคนนอกระบบพูดไปเรื่อย ไม่ต้องรับผิดรับผิดชอบ ส่วนคนที่อยู่ในระบบนั่งอยู่ในสภาแห่งนี้ แทนที่จะเป็นพลังตัวแทนของคนรุ่นใหม่ กลับขาดทั้งความรู้ความสามารถ ขาดวุฒิภาวะและขาดเจตจำนงทางการเมือง ลองดูขาดความรู้ความสามารถท่านนายกรัฐมนตรี การตอบคำถามสื่อมวลชน เรื่องค่าเงินบาทแข็ง ว่าจะช่วยการส่งออก ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดอย่างน่าตกใจ ขาดทั้งวุฒิภาวะ ในขณะที่คนไทยทั้งประเทศ ถามว่านายกรัฐมนตรี จะเอาอย่างไรกับปัญหาค่าไฟแพง ให้ตอบกระทู้ในสภา นายกฯ ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า “เมอร์รี่คริสต์มาส” ขาดเจตจำนงทางการเมือง 6 เดือนที่ผ่านมา เคยเห็นการผลักดันอะไรที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำตัวจริง ผลักดันให้เกิดการแก้แก้ไขปัญหาได้บ้าง ตั้งแต่ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหลือแต่การลอยตัวหนีปัญหาไม่สนไม่แคร์กับความเดือดร้อนของประชาชน

“เมื่อรวมผู้นำนอกระบบอย่างคุณทักษิณ และผู้นำในระบบอย่างคุณแพทองธาร แล้ว ประเทศไทยเสียสองต่อ เพราะมีแต่คนที่กำหนดวาระลอยตัว ไม่รับผิดชอบกับคนที่ถืออำนาจรัฐที่ขาดคุณสมบัติ ท่านนายกรัฐมนตรีอยากให้ตระหนักรู้ไว้อยู่เสมอว่า การกระทำของทุกท่านล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นโดยตรงของประชาชน จะทำตัวแบบเดียวกับนายกฯ ที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร มองการเมืองในสภาเป็นเพียงแค่เรื่องน่ารำคาญ มองวาระในสภาเหมือนก้อนกรวดในรองเท้า มองนักการเมือง มอง สส. ในสภาเป็นเพียงจำนวนนับให้จัดตั้งรัฐบาล แบบนี้ไม่ได้ ลองดูว่าตราบใดที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ประเทศจะต้องแลกด้วยอะไรอีกบ้าง” นายณัฐพงษ์ กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวต่อว่า เรื่องที่ 1 เรื่องค่าไฟ มีการไปตีกอล์ฟเพื่อดีลสัมปทานไฟฟ้ามูลค่าหลาย 100,000 ล้านบาท เพื่อสูบเงินออกจากกระเป๋าชาวนาและคนไทยไปเข้ากระเป๋าเจ้าสัว นี่คือต้นทุนอย่างแรกที่ประชาชนต้องจ่ายไปกับดีลแลกประเทศ รัฐบาลชุดนี้นอกจากไม่แตะต้อง แต่พร้อมเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนคนใกล้ชิดรัฐบาล เรื่องที่ 2 เรื่องที่ดิน ที่ลงพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีปัญหาป่าทับที่การให้สัมปทานนายทุน ชาวนายังขาดที่ดินทำกินจำนวนมาก แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่คือการดีลของสองพรรคร่วมรัฐบาล กรณีที่ดินทับซ้อนมูลค่าหลาย 1000 ล้านบาท เรื่องที่ 3 การปฏิรูปกองทัพ ให้ข้อสรุปว่าประชาชนหมดหวังกับรัฐบาลชุดนี้ในการปฏิรูปกองทัพ เพราะผลงานที่ผ่านมาหกเดือนเป็นที่ประจักษ์ ทั้ง พ.ร.บ.ระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม มุ่งหวังให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ถอยก็ไม่เป็นท่า หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ก็ถูกโหวตคว่ำไม่เป็นท่า ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยได้หลอมรวมกับพวกเขาเป็นที่เรียบร้อย ขัดขวางการปฏิรูปกองทัพทุกรูปแบบ และประชาชนหมดหวังกับการบังคับเกณฑ์ทหาร

ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 4 ความยุติธรรม ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รอฟังคำตอบเรื่องการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ หลายครอบครัวยังไม่ได้รับความเป็นธรรมให้กับคดีตากใบ แต่นายกรัฐมนตรีจงใจปล่อยปละละเลยไม่เร่งรัดติดตาม ในการนำตัวจำเลยที่หลบหนีในประเทศกลับมาดำเนินคดี เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน ขณะที่ “นายกฯ ตัวจริงนอกระบบ” กลับได้รับสิทธิอยู่ในชั้น 14 เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ เหนือระบบยุติธรรมในประเทศนี้ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นบุตรสาว ที่รับรู้รับรับทราบสถานะของบิดาตัวเองมาโดยตลอด ยังมีกรณีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่รอฟังคำตอบการนิรโทษกรรม เพียงแค่ข้อสังเกตในรายงานพรรคเพื่อไทยยังไม่โหวตรับ เป็นสิ่งที่ต้องแลกดีลแลกประเทศ

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า พรรคฝ่ายค้านต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แต่นายกรัฐมนตรีลอยตัวเหนือเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ตอกตะปูปิดฝาโลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ประชาชนคนไทยจะไม่มีวันมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทันต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน ที่เป็นแบบนี้เพราะนายกรัฐมนตรีไม่สามารถกำกับดูแลเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลได้ ที่เถียงกันในสภา เป็นเพียงละครปาหี่ว่าจะทำประชามติอีกครั้ง ต่างรู้ว่าเป็นข้ออ้างทางกฎหมายบังหน้าเหตุผลทางการเมือง เพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่ต้องการแก้ ประเทศจึงต้องสูญเสียไปอีกหนึ่งครั้ง ที่ต้องอยู่ภายใต้กติกาที่นั่งมาโดย คสช.

“การแจกเงินหมื่นไม่สร้างการเติบโตเศรษฐกิจไทย การสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เห็นชัดล่วงหน้าว่าจะมีกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดรัฐบาลที่ได้รับประโยชน์ เป็นการสูญเสียโอกาสของคนไทยที่ได้รัฐบาลคิดไปทำไป ดีลแลกประเทศมีคนไม่ถึงร้อยละ 1 ได้รับผลประโยชน์ แม้จะทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ตกต่ำยิ่งกว่ารัฐบาลของ คสช. ซึ่งอนาคตมีสิ่งที่ประเทศไทยต้องจ่ายมหาศาล ทั้งนี้สิ่งที่เราได้รับคือ พวกเราอ่อนแอ ไม่กล้าหวังอนาคตที่ดีกว่า ทั้งนี้การจัดตั้งรัฐบาลของดีลแลกประเทศ ทำให้ได้พรรคร่วมคณะรัฐประหาร หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน จึงไม่อาจไว้วางใจได้” นายณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย.