เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายภาณุวัฒน์ ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบเบาะแสว่า มีขบวนการลักลอบจัดหาหญิงชาวไทยเพื่อรับตั้งครรภ์แทนหรืออุ้มบุญให้กับผู้ว่าจ้างชาวต่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าตรวจค้นสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงจับกุมตัวนายเอ (นามสมมุติ) ในข้อหามีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ซึ่ง กสม. ตรวจสอบไม่พบว่า ประเด็นแรกพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากดำเนินการตรวจค้น จับกุมตามหมายศาล  

ส่วนประเด็นที่ 2 กรณีดังกล่าว มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนหรือไม่ กสม. เห็นว่า เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ คือ เพื่อกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ให้เหมาะส ควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยเมื่อสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งภรรยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้แล้วประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนตามวิธีการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ดังกล่าว คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) จะเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ดำเนินการตั้งครรภ์แทน ดังนั้น เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ที่ถูกต้องตามกระบวนการที่กฎหมายบัญญัติไว้ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีและภรรยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทน

สำหรับเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ซึ่งกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กคทพ. ทางกรมกิจการเด็กและเยาวชนมีหน้าที่และอำนาจในการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กคนนั้นเช่นเดียวกับเด็กที่เกิดตามธรรมชาติ หากไม่ปรากฏผู้ที่พร้อมรับเด็กไปเลี้ยงดู เด็กจะเข้าสู่กระบวนการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่อไป ทั้งนี้ กสม. เห็นว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจในการให้ความคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ไม่มีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า กลไกและการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ไม่ได้ช่วยป้องกันและปราบปรามขบวนการลักลอบรับตั้งครรภ์แทนให้หมดไป ในความเป็นจริง การหาหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนที่มีความสัมพันธ์กันทางสายโลหิตกับบิดาหรือมารดาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากถ้อยคำของผู้ต้องหาหญิงซึ่งเป็นหญิงรับตั้งครรภ์แทน พบว่า หญิงเหล่านี้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาหญิงรับตั้งครรภ์แทนผ่านกลุ่มอุ้มบุญในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เชื่อว่าเป็นเพียงการรักษาภาวะมีบุตรยาก เช่นเดียวกับการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูกหรือการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมักมีฐานะยากจน ขาดอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจและอาจไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่นที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว

ทั้งนี้ แม้เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ จะมุ่งคุ้มครองประโยชน์ของเด็กที่เกิดโดยวิธีนี้ แต่กฎหมายมีช่องว่างในการบังคับใช้จากการจำกัดคุณสมบัติของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และร่างกายต้องรับความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์แทน จึงส่งผลให้เกิดขบวนการหาหญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมาย ประกอบกับหน่วยงานรัฐผู้รักษาการตามกฎหมายนี้ ไม่มีอำนาจตรวจสอบการกระทำความผิดดังกล่าวได้โดยตรง และไม่ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมายที่อาจเป็นเหยื่อจากขบวนการดังกล่าว ทั้งยังไม่ได้กำหนดมาตรการรองรับ หากหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมาย เกิดอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดของกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

ดังนั้นที่ประชุม กสม. วันที่ 25 มี.ค. 2568 เห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อกระทรวงสาธารณสุข ให้หารือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาทบทวนและแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน คำนึงถึงสุขภาวะของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ และหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ความซับซ้อนของขบวนการรับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมาย การป้องกันและการเฝ้าระวังการค้ามนุษย์ การกำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับขบวนการรับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมาย และความคุ้มครองเด็กและหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ที่อาจเป็นเหยื่อจากขบวนการรับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมาย และให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และกรมกิจการเด็กและเยาวชน ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายนี้ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตรวจสอบและดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาหาหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนผ่านออนไลน์ ให้กรม สบส. เฝ้าระวังและสอดส่องโฆษณาเกี่ยวกับการหาหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมายผ่านออนไลน์ และแจ้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป.