หลังจากมีผู้พบเห็นโลมาน้ำจืดติดอวนในแม่น้ำ เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประจำจังหวัดสินธ์ก็เร่งรีบไปช่วยเหลือด้วยการตัดอวนและรีบพาโลมาตัวดังกล่าวขึ้นรถเพื่อนำส่งแหล่งน้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

โลมาตัวนี้เป็นโลมาน้ำจืดแห่งลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่สายพันธุ์โลมาน้ำจืดที่ยังหลงเหลืออยู่ในโลก เนื่องจากอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำขุ่นมานานนับล้านปี โลมาที่นี่จึงเป็นโลมาตาบอด แต่มันก็เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมแบบนั้น และว่ายไปในน้ำได้โดยอาศัยระบบโซนาร์ชีวภาพ ซึ่งใช้เสียงสะท้อนช่วยทำให้รู้ตำแหน่งของวัตถุ เมื่อโตเต็มที่ ลำตัวของมันจะมีความยาวมากกว่า 2 เมตร และหนักถึง 100 กก. โลมาพันธุ์นี้กินปลาเล็กและกุ้งเป็นอาหาร ต้องอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีความลึกอย่างน้อย 1 เมตร

ขณะอยู่บนรถบรรทุกซึ่งกำลังเร่งความเร็วไปยังแหล่งน้ำในเขตคุ้มครองของปากีสถานที่อยู่ห่างออกไปจากที่เกิดเหตุ 82 กม. โลมาสีเทาขยับครีบของมันไปมาอย่างอ่อนแรง เจ้าหน้าที่จากหน่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องคอยพรมน้ำลงบนตัวโลมาเพื่อรักษาผิวหนังของมันให้ชุ่มชื้นตลอดเวลา

โลมาแม่น้ำสินธุขณะอยู่ในรถบรรทุกที่กำลังมุ่งหน้าไปยังแหล่งน้ำในเขตคุ้มครอง ลักษณะเด่นของโลมาพันธุ์นี้คือตาที่มองไม่เห็นและฟันที่เรียงรายเป็นแถวยาว

“เราต้องพยายามพามันลงน้ำให้เร็วที่สุด” มีร์ อัคทาร์ ฮุสเซน ทัลปูร์ เจ้าหน้าที่ของแผนกสัตว์ป่าประจำจังหวัด ซึ่งเคยช่วยเหลือสัตว์ประเภทนี้มาแล้ว 10 ตัว เฉพาะในปีนี้ โดยเดือนก่อน หน่วยของเขาได้ช่วยโลมาไปแล้ว 8 ตัว

ทัลปูร์กล่าวว่าการช่วยโลมาพันธุ์นี้ทำได้ยากลำบากเพราะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง นอกจากต้องทำให้ผิวของโลมาเปียกอยู่เสมอแล้ว ยังต้องคอยดูแลและทำให้มันรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในน้ำ แต่ก็ต้องระวังไม่ให้มีน้ำหลุดเข้าไปในช่องหายใจที่อยู่ตรงหัวด้านบนของโลมา

โลมาเหล่านี้ถูกบีบให้ออกจากที่อยู่เดิมของมันหลังจากมนุษย์บุกรุกถิ่นของมัน ด้วยการสร้างเขื่อนชลประทานและการก่อให้เกิดมลพิษในแหล่งน้ำ ทำให้พื้นที่อาศัยของพวกมันลดลง เหลือแค่ระยะทาง 1,200 กม.ของแม่น้ำสินธุ หรือเพียงครึ่งเดียวของถิ่นที่อยู่ของพวกมันในอดีต โลมาขนาดเล็กบางตัวพลัดหลงไปยังแหล่งน้ำที่ตื้นกว่า เข่น คลองชลปนระทาน สระน้ำ ซึ่งมันไม่อาจอยู่รอดได้ และแม้ว่าจะห้ามล่าโลมาพันธุ์นี้ แต่เจ้าหน้าที่ของศูนย์สัตว์ป่าจังหวัดสินธ์บอกว่า การที่โลมาติดอวนยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม แผนการปกป้องโลมาสายพันธุ์ดังกล่าวเริ่มได้ผล โดยโลมาแห่งลุ่มแม่น้ำสินธุเพิ่มจำนวนเป็น 1,816 ตัวในปี 2562 มากกว่าจำนวนที่เคยมีเพียง 132 ตัวในปี 2515 ซึ่งทำให้โลมาพันธุ์นี้เสี่ยงต่องการสูญพันธุ์อย่างสูง และนำไปสู่โครงการสร้างเขตรักษาพันธุสัตว์

หลังจากเริ่มมีโครงการกู้ภัยโลมาติดอวนในปี 2535 มีโลมา 30 ตัว ตายลงจากการช่วยเหลือราว 200 ครั้ง แต่หลังจากปี 2562 ซึ่งมีการช่วยเหลือโลมาจำนวน 27 ตัว อัตราการตายของโลมาจากการช่วยเหลือก็เป็นศูนย์

เครดิตภาพและคลิป : Reuters