เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 68 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร  ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งมีการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว

โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ได้นำเสนอร่างการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551  ตอนหนึ่ง ว่า  ด้วยเหตุผลเนื่องจากมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เช่น คำนิยาม องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการต่างๆ บทบัญญัติเกี่ยวกับการโฆษณา บทกำหนดโทษ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ สาระสำคัญของเรื่องที่เสนอ 1.นำหลักการในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 และหลักการตามข้อ 6 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558 มากำหนดไว้ หลักตามข้อ 6 คือการจำหน่ายแอลกอฮอล์รอบสถานการศึกษา 2.แก้ไขคำนิยามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสื่อการตลาดให้มีความชัดเจนมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มเติมคำนิยาม ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการจัดเลี้ยงตามประเพณี เพื่อกำหนดปัญหาการตีความ หรือการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ คำว่า ตามประเพณี หมายความว่า วันอะไร อย่างไร ที่ไหน ในส่วนนี้จะต้องดำเนินการเป็นอนุบัญญัติต่อไป  3.การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดต่างๆให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเพื่อลดความซ้ำซ้อน และเกิดความคล่องตัวมากขึ้น ผู้ที่มีส่วนได้เสีย อย่างเช่น ในด้านสื่อสารเทคโนโลยี ด้านพาณิชย์ ธุรกิจ ด้านการท่องเที่ยว สภาเด็กเยาวชน และอื่นๆ 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า 4.การแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 5.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรการควบคุมห้ามขายและห้ามบริโภคแอลกอฮอล์ 6.แก้ไขเพิ่มเติมจากการควบคุมอายุ และอาการของผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรการควบคุมลักษณะหรือวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 8.เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ สถานที่ขายในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลักการตามประกาศปฏิวัติฉบับ ฉบับที่ 253  9.แก้ไขเพิ่มเติมหมวดว่าด้วยการโฆษณาและบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมการโฆษณา เช่น การห้ามใช้ตราเสมือน การห้ามให้การสนับสนุนทุนอุปถัมภ์ การห้ามเผยแพร่ข่าวสาร เป็นต้น 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า 10.แก้ไขเพิ่มเติมการบำบัดรักษาให้ครอบคลุมผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 11.แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น การตักเตือนการเพิกถอนใบอนุญาตขายสุรา เป็นต้น 12.ยกเลิกบทบัญญัติเรื่องการอำนวยความสะดวกให้พนักงานเจ้าหน้าที่ 13. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดโทษเพื่อสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงเพิ่มมาตรการปรับเป็นพินัยแทนการลงโทษทางอาญา ทั้งนี้มาตรา 71 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและยกเลิกการปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน จึงจำเป็นต้องเสนอร่างพ.ร.บ.นี้

ภายหลังจาก สว. อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง จากนั้น เวลา 19.05 น. ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบรับ ร่างพ.ร.บ.ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน 139 ต่อ 1 งดออกเสียง 2 จากนั้นตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณา จำนวน 27 คน กำหนดการแปรญัตติ 7 วัน.