เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” พร้อมทีมกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวความคืบหน้าในการช่วยเหลือผู้สูญหาย จากเหตุอาคารในโครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ จตุจักร ถล่ม ขณะแผ่นดินไหว ว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า ได้ใช้เครื่องมือหนักในการ ยกซากปรักหักพัง และใช้อุปกรณ์ในการเจาะ เพื่อที่จะพยายามเข้าไปนำร่างของผู้เสียชีวิต และคาดว่าน่าจะมีผู้สูญหายติดอยู่ภายในซากปรักพังจำนวนมาก ออกมาให้หมด


ขณะนี้ได้ใช้เครื่องสแกนพบว่ามีมากกว่า 70 คน อยู่บริเวณตรงกลางของซาก กระจุกตัวรวมๆ กัน แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าความลึกใต้ซากระยะกี่เมตรจากยอด แล้วหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ที่ยังพบมีผู้รอดชีวิตอยู่ในกลุ่มนั้น ส่วนอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากอาคารแห่งนี้เป็นอาคาร 30 ชั้น และยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่มีแปลนอาคารแบบสมบูรณ์ ประกอบกับพื้นปูน ขนาบด้านข้างมีความหนาเป็นเมตร ทำให้การเจาะเข้าไปด้านใน ทำได้ยากลำบาก

เจ้าหน้าที่อาจจะต้องเร่งดำเนินการในการใช้เครื่องมือหนักเข้าไปในพื้นที่ เพื่อเร่งนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาโดยเร็วที่สุด เพราะการทำงาน 4 วันที่ผ่านมาสามารถเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิตออกมาได้เพียง 14 รายเท่านั้น วิธีการเข้าไปนำร่างของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายออกมา จะต้องค่อยๆ ยกแผ่นปูนด้านบนออก สลับกับการเจาะผนัง และเข้าไปพิสูจน์ทราบ จากการประเมินและข้อมูลจากโครงการ คาดว่า ผู้สูญหาย จะอยู่ที่บริเวณชั้น 17 และ 21 เพราะในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เป็นช่วงเวลาหลังทานข้าวเสร็จ เป็นห้องที่ทำงานกัน เมื่อทานข้าวเสร็จก็จะอยู่บริเวณดังกล่าว

ทั้งนี้จะคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองแบบพิเศษ เพราะภายในมีฝุ่นละอองจำนวนมาก โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือต้องนำปูนที่ทับกันออกให้เร็วที่สุดจนกว่าจะไปเจอโถงตามภาพที่สแกนไว้ ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจ้าหน้าที่ทำงานล่าช้า นายบิณฑ์ ยืนยันว่าการทำงานไม่มีการเกี่ยงกันในการทำงานและไม่ได้ทำงานอย่างล่าช้า

“ถ้าคุณมาเห็นหน้างาน และมาเห็นการทำงานของพวกเรา และหากเราสแกนเห็นว่ายังมีผู้รอดชีวิต อันดับแรกจะไม่ไปไหน จะทำการเจาะและทำทุกอย่าง ดังนั้น การทำงานช้าหรือเกี่ยงกันในการทำงานหรือไม่มีความรู้ ไม่ใช่อย่างแน่นอน แต่อะไรที่ไม่สามารถเข้าไปได้ด้วยตนเอง ก็ยอมรับว่าต้องใช้เครื่องมือหนักในการดำเนินการ เพราะหากใครมาดูหน้างานจะรู้ว่าการทำงานยากมาก” นายบิณฑ์ กล่าว
ส่วนการทำงานกับทีมกู้ภัยต่างชาติ นายบิณฑ์ ระบุว่า สามารถทำงานร่วมกันได้ดี เพราะที่ผ่านมาทีมกู้ภัยของมูลนิธิร่วมกตัญญู ก็เคยไปฝึกที่ต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย จึงมีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งก็ต้องยอมรับ เครื่องมือกู้ภัยของต่างชาติมีประสิทธิภาพมากกว่าของประเทศไทย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่และทีมกู้ภัยนานาชาติ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะใช้ระยะเวลากี่วัน ในการนำร่างผู้สูญหายทั้งหมดออกมาจากใต้ซากอาคาร เพราะยังมีอุปสรรคค่อนข้างมากในการทำงาน ส่วนขั้นตอนการนำร่างผู้เสียชีวิตออกมา ต้องนำมาใส่ถุงซิปล็อก จากนั้นจะให้บริษัทและญาติยืนยันตัวบุคคล ด้วยการดูเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ก่อนนำส่งนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ ชันสูตรตามขั้นตอนกฎหมาย.