สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ว่า รายงานของบีเอฟเอสระบุว่า ความยากจนส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อคนโสด ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่บุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลไร้ฝีมือ ครัวเรือนซึ่งไม่มีสมาชิกคนใดมีงานทำ และชาวต่างชาติ ที่อาศัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์

รายงานระบุว่า ในปี 2566 ประชากรทั้งหมด 10.1% “ต้องดิ้นรนเพื่อให้พออยู่พอกิน” โดยสังเกตว่า สัดส่วนของประชากรซึ่งมีปัญหาในการชำระค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับก่อนการระบาดใหญ่ ของโรคโควิด-19

หลังผ่านพ้นการชำระล่าช้า ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 จำนวนครัวเรือนที่มียอดค้างชำระอย่างน้อย 2 ประเภท​ เพิ่มขึ้นจาก 4.8% ในปี 2565 เป็น 6.3% เมื่อปี 2566 และค่อย ๆ กลับมาอยู่ที่ 7.0% เท่ากับที่เคยบันทึกไว้ ในปี 2562

บีเอฟเอสเสริมว่า การชำระเงินล่าช้า “ส่วนใหญ่” เกี่ยวข้องกับภาษีและประกันสุขภาพ

ในสวิตเซอร์แลนด์ มีประชาชนราว 708,000 คน ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 2,315 ฟรังก์สวิส (ราว 89,204 บาท) และสำหรับครัวเรือนที่มีผู้ใหญ่ 2 คน​ และเด็ก 2 คน เกณฑ์ความยากจนอยู่ที่ 4,051 ฟรังก์ (ราว 156,095 บาท) ในปี 2566

แม้ประชากรส่วนหนึ่งจะประสบกับ “ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ” แต่ชาวสวิสยังคงมีรายรับสำหรับใช้จ่าย ซึ่งถือว่าเฉลี่ยสูงกว่าประเทศหลายแห่งในยุโรป ยกเว้นออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก และนอร์เวย์.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES