เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 2 เม.ย. ที่กระทรวงแรงงาน  นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เป็นประธานการประชุมกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับกิจการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครั้งที่ 1/2568  โดยมีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม  หลังจากนั้นได้ให้การต้อนรับ นายอู ซอ ซอ โซ (U Zaw Zaw Soe) ว่าที่เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย พร้อมคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อรับมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 2 ล้านบาท พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์ 12,675 กิโลกรัม เพื่อส่งต่อให้ชาวเมียนมา โดย นายอู ซอ ซอ โซ ว่าที่เอกอัครราชทูตฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน และเครือข่ายแรงงานไทย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ได้แสดงน้ำใจอย่างจริงใจ พร้อมกล่าวว่า “จะรายงานความห่วงใยจากรัฐมนตรีพิพัฒน์ ไปยังรัฐบาลเมียนมา และขอแสดงความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยแรงงานเมียนมาในยามวิกฤตินี้”

นายพิพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ที่เรียกประชุมผู้ประกอบการรับก่อสร้างวันนี้มาจากเหตุสะพานพระราม 2 ถล่มมีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บกว่า 30 ราย  ตนจึงให้นโยบายกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเชิงรุก เพื่อหารือภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากมีการจ้างงานและทำสัญญาเกี่ยวกับการก่อสร้างที่มีความเสี่ยง ทางกรมสวัสดิการฯ จะต้องเข้าไปร่วมเพื่อออกมาตรการดูแลเรื่องความปลอดภัย และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) “สสปท.” จะต้องร่วมติดตามการดำเนินงาน เพื่อ สสปท. จะมีการออกรูปแบบในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในรูปแบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและเป็นสิ่งที่กระทรวงแรงงานกำลังอยู่ระหว่างการหารือ

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังได้เกิดเหตุตึกถล่มซ้ำจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนจึงได้สั่งการเพิ่มเติมเรื่องของการซักซ้อมการป้องกันภัย กรณีการเกิดภัยธรรมชาติ อาทิ สึนามิ และเหตุแผ่นดินไหว รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ พร้อมได้กำชับเพิ่มเติมในเรื่องการใส่ใจดูแลแรงงานต่างๆ ที่เข้ามาทำงานในไทยว่าได้มีการลงทะเบียนถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33, 39 ซึ่งนายจ้างจะต้องแจ้งให้ประกันสังคมทราบ และให้ก็ตามเนื่องจากได้รับรายงานว่า มีเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี ก็สั่งการให้ตรวจสอบว่า มีเยาวชนเข้ามาทำงานไซต์งานก่อสร้างจริงหรือไม่ เพราะอาจะขัดกฎหมาย

สำหรับการชดเชยเยียวยานั้นอยู่ในระหว่างการขอบัญชีรายชื่อจากบริษัทต่างๆ ทั้งนี้หากพิสูจน์อัตลักษณ์ได้แล้วจะมีการชดเชยตามกฎหมายภายใน 15 วันให้กับทายาทผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบัญชีรายชื่อแรงงานที่ทำงานไซต์งานมีกี่คน อายุเท่าไหร่ เบื้องต้นมีแรงงานไทย เมียนมา และกัมพูชา ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมายนั้น กระทรวงแรงงาน เป็นผู้ฟ้องร้องให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบในอัตราเดียวกับแรงงานถูกกฎหมาย โดยกรณีนี้ต้องรอจนสิ้นสุดกระบวนการทางศาลจึงจะได้รับเงินเยียวยา

นายบุญสงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เสียชีวิตทั้ง 15 รายจากเหตุอาคารถล่ม ซึ่งสามารถตรวจอัตลักษณ์แล้วนั้น มีการจ่ายเงินเยียวยาแล้วรวม 16 ล้านบาท ส่วนเรื่องผลกระทบของอาคารทุกหลังของกระทรวงแรงงานนั้นกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เข้ามาตรวจสอบทุกตึกแล้ว ยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องโครงสร้าง ปลอดภัยและใช้งานได้ แต่อาจจะมีผนังบางจุดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวทำให้ปูนแตกและร้าว แต่สามารถซ่อมแซมและใช้ได้ปกติ สิ่งที่ดำเนินการจากนี้คือการทำแผนอพยพคนเมื่อเกิดเหตุการณ์ รวมถึงมีระบบแจ้งเตือน คาดว่ากระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 1 สัปดาห์จะแล้วเสร็จ.