นับเป็นอีกก้าวสำคัญของโลกที่จะได้พบกับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency) หรือเรียกว่า CBDC ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เข้ามาทดแทนการชำระเงินในรูปแบบของธนบัตรที่เป็นกระดาษ ตอบรับการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดในอนาคต

หนึ่งในประเทศที่เรียกว่าเป็นอันดับต้น ๆ ที่จะใช้ CBDC คือ ประเทศจีน หลังจากธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China : PBOC) ได้ศึกษาเรื่อง หยวนดิจิทัล มาได้สักพัก จนในที่สุดประกาศใช้ในร้านอาหาร และเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็นครั้งแรกที่งานจัดแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในจีน งาน China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 4 ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ และคาดการณ์กันว่าจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปี 65 อีกด้วย

สำหรับ CBDC ของจีน หรือ หยวนดิจิทัล ซึ่งในช่วงแรกได้ใช้ชื่อว่า DCEP (Digital Currency Electronic Payment) และปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเรียกว่า e-CNY

ในส่วนของประเทศไทย อีกไม่นานเกินรอ อาจได้ใช้ CBDC หรือเรียกกันว่า บาทดิจิทัล เช่นเดียวกัน โดยปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้กำลังซุ่มศึกษาพัฒนา บาทดิจิทัล ที่ออกในลักษณะเหมือนกับ หยวนดิจิทัล ใช้ทดแทนธนบัตร มีรูปแบบคล้ายกับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี่) และกระเป๋าเงินดิจิทัล (อี-วอลเล็ต) อาจผ่านตัวกลางหนึ่งที่เป็นแพลตฟอร์ม เช่น แอพพลิเคชั่น บัตร เป็นต้น แต่ต่างจากโมบายแบงก์กิ้ง เพราะไม่มีดอกเบี้ยเงินฝากใดๆทั้งสิ้น

ล่าสุดในงานสัมมนาวิชาการ ธปท. ปี 64 BOT Symposium 2021 หัวข้อ เงินโลกอนาคต : การพัฒนาเงินดิจิทัลของไทย “กษิดิศ ตันสงวน” รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ระบุว่า ธปท.อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมใช้เงินบาทดิจิทัล ตามโครงการ CBDC มาทดลองใช้กับประชาชนในช่วงไตรมาส 2 ปี 65 (เดือน เม.ย.-มิ.ย.65) เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ

รูปแบบคล้ายใช้เงินสด แต่ไม่มีดอกเบี้ยเหมือนเงินฝาก เพื่อไม่ให้กระทบกับสถาบันการเงิน และเสถียรภาพระบบการเงิน และการกระจายเงินบาทดิจิทัล จะผ่านตัวกลางเป็นกระเป๋าเงิน (CBDC wallet) คาดหวังต่อยอดนวัตกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างบริการทางการเงินใหม่ ๆ จากผู้เล่นใหม่ และรูปแบบอาจใช้ได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น สมาร์ทโฟน และบัตร เป็นต้น

โครงการ CBDC ของเงินบาทดิจิทัลนี้ แบ่งระดับเป็น ระดับการทดสอบระดับพื้นฐานที่จะเริ่มไตรมาส 2 ปี 65 เป็นการทดสอบเพื่อรองรับการใช้งานพื้นฐานที่มีการใช้งานในหลายรูปแบบ เป็นการใช้งานจริงแต่จำกัดพื้นที่อาจใช้ภายใน แบงก์ชาติ ก่อน จากนั้นขยายสู่การใช้งานภายนอก และเป็นระดับการทดสอบระดับนวัตกรรม เพื่อรองรับการพัฒนาต่อยอดเงินบาทดิจิทัลไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ

ถือว่า บาทดิจิทัล ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม เพราะจะเข้ามาเปลี่ยนโลกการเงินให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจ และผลักดันให้ไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง