นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (แอนตี้ เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์) ตั้งแต่เดือน พ.ย. 62–มี.ค. 68 พบว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้คัดกรองจำนวนข้อความทั้งหมด 1,172,694,555 ข้อความ โดยมีจำนวนข้อความที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบ 74,892 ข้อความ (ณ วันที่ 31 มี.ค. 68)  ซึ่งได้บูรณาการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข่าวสาร ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ที่เป็นเครือข่ายผู้ประสานงานกว่า 400 หน่วยงาน

ซึ่งสามารถแบ่งประเภทข้อความได้ดังนี้ 1.เรื่องที่ส่งตรวจสอบ จำนวน 38,361 เรื่อง แบ่งเป็นหมวดหมู่ข่าวสารที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ดังนี้ เรื่องนโยบายรัฐบาล 18,168 เรื่อง (47.36%) เรื่องสุขภาพ 14,082 เรื่อง (36.71%)  เรื่องเศรษฐกิจ 2,115 เรื่อง (5.51%) เรื่องอาชญากรรมออนไลน์ 2,171 เรื่อง (5.66%) และ เรื่องภัยพิบัติ 1,825 เรื่อง (4.76%)

โดยเรื่องที่ได้รับการตรวจสอบ มีจำนวนทั้งหมด 19,954 เรื่อง โดยแบ่งเป็น 1. ข่าวปลอม จำนวน 6,987 เรื่อง (35.01%)  2. ข่าวจริง จำนวน 7,955 เรื่อง (39.87%)  3. ข่าวบิดเบือน จำนวน 2,241 เรื่อง (11.23%)  และ 4. ข้อมูลไม่เพียงพอ จำนวน 2,771 เรื่อง (13.89%) ขณะที่เรื่องที่ได้ดำเนินการเผยแพร่ข่าวสารที่ตรวจสอบแล้วให้กับประชาชนได้รับทราบจำนวนทั้งหมด 10,293 เรื่อง แบ่งเป็น 1.ข่าวปลอม จำนวน 7,230 เรื่อง (70.25%)  2. ข่าวจริง จำนวน 2,266 เรื่อง (22.01%)  3. ข่าวบิดเบือน จำนวน 797 เรื่อง (7.74%)

“กระทรวงดีอี โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการแก้ไขและป้องกันปัญหาข่าวปลอมที่มีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบอย่างรวดเร็วทันท่วงที ก่อนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยให้ความสำคัญในการสร้างความเข้าใจ และชี้แจงข้อเท็จจริงและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีแก่ประชาชน ผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อมูลอย่างรัดกุม และในอนาคตจะมีการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เข้ามาช่วยในการตรวจสอบข่าวปลอม รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางออนไลน์ หรืออาชญากรรมออนไลน์ ในรูปแบบต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ เพื่อลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ” นายประเสริฐ กล่าว