สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ว่า คณะกรรมาธิการยุโรป ( อีซี ) ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ( อียู ) ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลเบลารุส “ใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง” ต่อยุโรป และขอเรียกร้องประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส ยุติการทำให้ชีวิตของมนุษย์ต้องตกอยู่ในอันตราย


ด้านกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ออกแถลงการณ์ประณามเบลารุส “เจตนาสร้างสถานการณ์ตึงเครียด” ตามแนวพรมแดนที่ติดกัน ด้วยการเปิดทางให้ผู้อพยพผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิรัก พยายามทะลักผ่านโปแลนด์เข้าสู่ทวีปยุโรป บรรยากาศซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า จะซ้ำรอยวิกฤติผู้อพยพเมื่อปี 2558 โดยทางการโปแลนด์กล่าวด้วยว่า ผู้อพยพส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้ “การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ” ของกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเบลารุส

กลุ่มผู้อพยพซึ่งเดินทางมาจากเบลารุส ปักหลักอยู่ที่ด้านหนึ่งของรั้วลวดหนาม ระหว่างเบลารุสกับโปแลนด์


ขณะเดียวกัน รัฐบาลวอร์ซอยังกล่าวว่า ลูคาเชนโกต้องการ “ล้างแค้น” ต่อโปแลนด์ ลิทัวเนีย และลัตเวีย ที่ร่วมกันเรียกร้องให้อียูใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเบลารุส จากกรณีทางการเมืองและเรื่องสิทธิมนุษยชน และทางการเบลารุสต้องการให้สถานการณ์ผู้อพยพเพิ่มแรงกดดัน ให้อียูยกเลิกมาตรการกดดันทั้งหมด

คาราวานผู้อพยพเดินทางผ่านเมืองกรอดโน ทางตะวันตกของเบลารุส


ต่อมากระทรวงมหาดไทยของโปแลนด์ยืนยันว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ตามแนวพรมแดนทางตะวันออกที่ติดกับเบลารุสได้แล้ว และเร่งเสริมแนวรั้วกั้นให้แข็งแกร่งชึ้นอีก พร้อมระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงออกลาดตระเวน หลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนนี้


อย่างไรก็ตาม สำนักงานลาดตระเวนและควบคุมพรมแดนของเบลารุสมีแถลงการณ์ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามแนวพรมแดนเพียงว่า ผู้อพยพเหล่านี้แม้อาจไม่มีเอกสารถูกต้องทั้งหมด แต่ต้องการดำเนินการตามสิทธิของตัวเอง ในการสมัครสถานะผู้ลี้ภัยกับอียู และกลุ่มคนเหล่านี้ “ไม่ใช่ภัยคุกคามความมั่นคง”.

เครดิตภาพ : AP