เมื่อเวลา 13.35 น. วันที่ 8 เม.ย. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี แจ้งพรรคร่วมรัฐบาลขอถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. (เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ ว่า ได้คุยกัน และมีการหารือ สุดท้ายแล้วจริงๆ นายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของสถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น เรื่องการขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเรื่องของแผ่นดินไหว ซึ่งยังมีภารกิจที่ต้องทำอยู่พอสมควร เช่น การเยียวยา ตอนนี้จึงต้องเรียงลำดับความสำคัญ ซึ่งตนเข้าใจนายกรัฐมนตรี ท่านมีการพูดคุยหารือกัน และมีข้อสรุปว่าคงต้องไปพูดคุยกันในแต่ละพรรค เพราะเป็นสิทธิของสมาชิกที่จะมีการพิจารณา ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้วันที่ 9 เม.ย. เราจะได้มีการคุยกันถึงเรื่องขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาก่อน 

เมื่อถามว่าการเลื่อนร่างดังกล่าวออกไป จะเข้าสู่ที่ประชุมสมัยหน้าเลยหรือไม่ เพราะยังค้างอยู่ในสภา นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นวันสุดท้ายที่จะมีการพิจารณากฎหมาย ฉะนั้นคงจะไม่ทัน แต่ไม่ได้มีปัญหาอะไร ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคยืนยันตรงกันว่าจะให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ระยะเวลาหลังจากนี้เป็นการดี เพราะนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกคนช่วยกัน ระยะเวลาหลังจากนี้จนกระทั่งถึงสมัยเปิดประชุมมีเวลาไปทำความเข้าใจ ชี้แจงกับประชาชนในประเด็นที่มีความสับสน เพราะยังมีอีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องของการพนัน กาสิโนอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องของเม็ดเงินการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาพัฒนาประเทศ

เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะต้องมีการทำประชามติเพื่อจะให้จบหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นขั้นตอนที่เราดำเนินการลำบาก ต้องเข้าใจว่า ขั้นตอนของกฎหมายมีทั้งการทำประชาพิจารณ์มาแล้ว 4 รอบ ไม่ใช่ไม่เคยทำอะไรเลย ก็ได้รับการยอมรับเฉลี่ย 80% ที่เห็นชอบ ฉะนั้นขอให้เป็นขั้นตอนตามกฎหมายดีกว่า ส่วนใครจะไปดำเนินการให้มีขั้นตอนอื่น ช่องทางกฎหมายมีอยู่แล้วก็ดำเนินการไปตามนั้น 

เมื่อถามว่าไม่ใช่การพับกฎหมายใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่พับ ยังอยู่ในระเบียบวาระ และเปิดสมัยประชุมใหม่ก็คงมีการมาถกกัน หวังว่า ตอนนั้นการทำความเข้าใจคงจะอยู่ในระดับที่สูงกว่านี้

เมื่อถามว่าช่วงปิดสมัยประชุมสภา ให้ทุกภาคส่วนทำความเข้าใจกับสังคมใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า “แน่นอนครับ ตนก็ยังจะสื่อสารต่อ” 

เมื่อถามว่าต้องมีการศึกษาประเด็นใดเพิ่มเติมหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นการชี้แจงทำความเข้าใจดีกว่า และรับฟังความเห็น เพราะเป็นการสื่อสาร 2 ทาง รัฐบาลก็ชี้แจงกับประชาชนกับผู้ที่ยังมีข้อสงสัย และในขณะเดียวกันเราก็รับฟังในประเด็นที่เขาห่วงใย ส่วนการแก้เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา ตรงนั้นก็ไปแก้ ค่อยว่ากันสามารถแก้ได้อยู่แล้ว 

เมื่อถามถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวหากโหวตผ่านจะมีการยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่มีประเด็นเรื่อง ป.ป.ช. และไม่ได้ห่วง เพราะไม่มีประเด็นใดๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนการดำเนินการที่สภามีอำนาจในการออกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ข้อห่วงใยของ สว.หากมีโอกาสก็คงได้คุยกัน