แต่ในที่สุด เมื่อมีเสียงค้านมากเข้า รัฐบาลก็ถอยก่อน และเอานิรโทษกรรมเข้า ซึ่งก็มีกระแสโจมตีว่า รัฐบาลไม่ได้จริงใจกับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ทำกฎหมายฉบับของ ครม.ออกมา เช่นนี้แล้ว การโหวตก็เป็นฟรีโหวต วิปไม่บังคับ  ก็เหมือนคราที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครม.ก็ไม่ได้ทำร่างของตัวเองประกบ

กฎหมายนิรโทษกรรมที่เข้าสภา คือ ร่าง พ.ร.บ. สร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรค รวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอโดย นายปรีดา บุญเพลิง สส.พรรคกล้าธรรม กับคณะ  ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ… เสนอโดยนายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กับคณะ  และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ… เสนอโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน และมีผู้รับรองถูกต้อง 

เนื้อหาที่เหมือนกัน คือให้ตั้งกรรมการมาพิจารณาว่า การกระทำหรือคดีใดบ้างที่เข้าข่ายได้รับนิรโทษกรรม โดยอิงตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ว่าให้ความผิดใดได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง ซึ่งร่างของภาคประชาชนจะให้ประชาชนร่วมเป็นกรรมการ

อ้างอิงจาก ILAW ว่า กฎหมายสร้างเสริมสังคมสันติสุข ทั้ง รทสช.และของนายปรีดา บุญเพลิง ไม่นิรโทษกรรมในคดีทุจริตประพฤติมิชอบ  และคดี ม. 112  รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ อาทิ ร่างฉบับนายปรีดาไม่นิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ส่วนร่างฉบับพรรค รทสช.ไม่นิรโทษกรรมความผิดที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ไม่ว่าจะเจตนาหรือโดยประมาทก็ตาม การนิรโทษกรรมความผิดตาม ม.112  จะมีในร่างของนายชัยธวัช ตุลาธน และร่างของประชาชน กรณีที่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรม ในร่างของนายชัยธวัช ไม่นิรโทษความผิดตาม ป.อาญา ม.113 ซึ่งเป็นความผิดฐานกบฏ เจ้าหน้าที่ที่กระทำเกินกว่าเหตุ และการกระทำที่เป็นความผิดต่อชีวิต

ระยะเวลาในการนิรโทษกรรม ของพรรค รทสช. จะนิรโทษกรรมความผิดในช่วง พ.ศ.2548-2565 ร่างของนายปรีดา บุญเพลิง จะละเอียดขึ้นหน่อยคือ 19 ก.ย.49 ถึง 30 พ.ย.65 ร่างของนายชัยธวัช ตุลาธน นิรโทษตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.49 ถึงวันที่กฎหมายใช้บังคับ ร่างของภาคประชาชนนับตั้งแต่ 19 ก.ย.49 จนถึงวันที่กฎหมายใช้บังคับ

ตัวแปรที่สภาจะรับร่างไหน ก็แบไต๋มาตั้งแต่ตอนตั้งรัฐบาลแล้วที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย บอกว่า “จะไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่สนับสนุนการแก้ ม.112” เชื่อมโยงได้ว่า ร่างไหนมีนิรโทษกรรม ม.112 ฝ่ายพรรครัฐบาลจะไม่ยกมือผ่าน  และผลจาก“การปฏิบัติการทางกฎหมาย”มันก็ทำให้เกิดความกลัวว่า ถ้าไปแตะต้องมาตรานี้ จะมีโทษจริยธรรม และอาจถูกร้องกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ด้วย พรรคประชาชน ( ปชน.) ยังต้องเอานโยบายเรื่องแก้ ม.112 ออก แนวทางที่เคยพูดกันตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ คือต้องตั้งกรรมการกลั่นกรองคดี พิสูจน์ทราบเจตนาก่อนให้อัยการสั่งฟ้อง ตอนนั้นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.ยุติธรรม ก็ลงนามไปแล้ว

สรุปคือ สภาอาจรับหลักการร่างของพรรค รทสช.และของนายปรีดา บุญเพลิง และไปแปรญัตติปรับเพิ่มเนื้อหาเอาแบบที่จะทำกับกฎหมายกาสิโนนั่นแหละ  จะมีอะไรมาจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นมาอีกก็ให้รอดูวาระสอง หลัง กมธ.พิจารณาแล้ว เนื้อหาจะเป็นอย่างไร มีการเขียนเล่นแร่แปรธาตุช่วยเหลือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่

ลองๆ คิดดูนี่ก็เป็นทางหนึ่งที่ทำให้อดีตนายกฯ ปูกลับไทยได้ แต่ก็ยังเสี่ยงจะมีกระแสต่อต้าน.