สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ว่า ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลระยะ 20 ปี จากการศึกษาวิจัยระยะยาวด้านสุขภาพผู้หญิงของออสเตรเลีย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 57,000 คน เป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 48-55 ปี
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์ กล่าวในรายงานร่วมว่า ผู้หญิงซึ่งไม่มีความรู้สึกเหงาเรื้อรัง มีความเสี่ยงเสียชีวิตอยู่ที่ 5% อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มขึ้น 15% ในกลุ่มผู้หญิงที่มีความรู้สึกเหงาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ความเหงาเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองโดยแพทย์ เช่นเดียวกับการตรวจความดันโลหิตสูงหรือคอเลสเตอรอล และจำเป็นต้องสร้างความตระหนักในสังคมเกี่ยวกับความเหงา เพื่อให้ผู้คนมีความเข้าใจมากขึ้น และลดการตีตราความรู้สึกนี้
ผู้หญิงวัยกลางคนมักเป็นผู้ดูแลทั้งลูกเล็กและพ่อแม่สูงอายุ ขณะเดียวกัน พวกเธอต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านสำคัญในชีวิต เช่น วัยหมดประจำเดือน การเกษียณอายุ หรือการที่ลูกย้ายออกจากบ้านไปมีครอบครัว หรือใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนสามารถนำไปสู่การแยกตัวทางสังคมได้
นอกจากนี้ การศึกษาดังกล่าวซึ่งได้รับการแพร่ในวารสาร “บีเอ็มเจ เมดิซีน” ยังค้นพบความเชื่อมโยงที่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกเหงา (dose-dependent relationship) โดยยิ่งผู้หญิงรู้สึกเหงาบ่อยเท่าใด ความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนวัยยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
แม้ยังไม่มีข้อมูลระยะยาวที่เปรียบเทียบได้เกี่ยวกับสุขภาพของผู้ชาย แต่ช่วงวัยกลางคนเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้หญิงในทางลบมากกว่า.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES