สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานวานนี้ (8 เม.ย. 2568) กรณีเชื้อแอนแทรกซ์คร่าชีวิตสัตว์ขนาดใหญ่ในอุทยานแห่งชาติวิรุงกาของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยเจ้าหน้าที่ของอุทยานเตือนว่า เชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ที่ก่อโรคแอนแทรกซ์นี้ อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้

“แม้ว่าโรคนี้จะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าเป็นหลัก แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะแพร่ระบาดสู่มนุษย์และสัตว์เลี้ยงได้” สถาบันอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งคองโก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลอุทยานแห่งชาติวีรุงกา แถลงต่อสำนักข่าวดังกล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หลังจากพบซากฮิปโปโปเตมัสหลายสิบตัวลอยน้ำ อยู่ในลักษณะหงายท้องในแม่น้ำทางใต้ของทะเลสาบเอ็ดเวิร์ด ภายในพื้นที่ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์กรยูเนสโก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1925 มีพื้นที่ทั้งหมด 3,120 ตารางไมล์

เจ้าหน้าที่อุทยานเชื่อว่า เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคแอนแทรกซ์แฝงตัวอยู่ในพื้นดิน โดยมีที่มาจากสัตว์ตายที่เป็นพาหะของเชื้อนี้ ถูกฝังไว้ใกล้กับจุดที่พบซากฮิปโปจำนวนมาก 

นอกจากนี้ รายงานข่าวยังระบุว่า ฮิปโปโปเตมัสและสัตว์อื่นๆ ที่พากันตายหมู่ในลักษณะเดียวกัน โดยมีสาเหตุมาจากโรคแอนแทรกซ์ในวิรุงกาและเขตอนุรักษ์ธรรมชาติอื่นๆ ในแอฟริกา มีที่มาจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคนี้ แพร่กระจายตามธรรมชาติในดิน

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES