กรณีศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงวัยของโครงการ DO-HEALTH ค้นพบว่า กรดไขมันโอเมกา-3 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสารอาหารสำคัญที่ดีต่อสุขภาพมานานหลายปีนั้น ไม่เพียงให้ประโยชน์แก่สุขภาพหัวใจและสมอง แต่ยังมีส่วนช่วยอย่างมากในกระบวนการชะลอวัย ทำให้ร่างกาย “แก่” ช้าลง
กรณีศึกษาครั้งนี้มีผู้ร่วมโครงการ 2,175 คนซึ่งถูกแบ่งเป็นกลุ่ม เพื่อประเมินว่า 3 ปัจจัย ได้แก่ วิตามินดี, กรดไขมันโอเมกา-3 และการออกกำลังกาย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่างๆ อย่างไรในช่วง 3 ปี โดยผู้ร่วมโครงการบางคนจะได้รับหรือใช้ประโยชน์เพียงปัจจัยเดียว และอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับหรือใช้ประโยชน์จากปัจจัยทั้งสาม เพื่อทดสอบว่า การเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตหลายประการร่วมกันจะส่งผลกระทบได้มากกว่าการเปลี่ยนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่
ผลที่ได้ปรากฏว่า ผู้ที่รับประทานกรดไขมันโอเมกา-3 ทุกวันสามารถชะลอความแก่ชราทางชีวภาพได้ 1 เดือนต่อปี จากการวัดอายุของเซลล์หรือวัดอายุทางชีวภาพ 3 รูปแบบ ส่วนการวัดอายุชีวภาพรูปแบบที่ 4 นั้น พบว่า ผู้ที่ได้รับทั้งกรดไขมันโอเมกา-3, วิตามินดีและออกกำลังกายร่วมด้วย สามารถชะลอการชราทางชีวภาพได้ดีขึ้น
กรณีศึกษานี้ยังพิจารณาถึงผลลัพธ์ด้านอื่นๆ ของภาวะสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี และพบว่าผู้ที่รับประทานกรดไขมันโอเมกา-3 มีอัตราการหกล้มลดลง (ความเสี่ยงลดลง 10%) และการติดเชื้อลดลง (ความเสี่ยงลดลง 13%) ผู้ที่รับประทานกรดไขมันโอเมกา-3 ร่วมกับวิตามินดีและการออกกำลังกาย มีโอกาสเกิดภาวะก่อนเปราะบาง (pre-frailty) ลดลง 39% ซึ่งเป็นภาวะที่รวมถึงอาการอ่อนแรง เดินช้าลง และอ่อนเพลีย และที่สำคัญคือมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลดลงถึง 61%
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่ชี้ให้เห็นประโยชน์ของกรดไขมันโอเมกา-3 ด้วย เช่น ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง บรรเทาอาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (เมื่อใช้ร่วมกับการรักษาด้วยยา) และส่งเสริมสุขภาพตาและสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเร็วในการประมวลผลและความจำ
กรดไขมันโอเมกา-3 ช่วยชะลอวัยเพราะคุณสมบัติของมันในการช่วยลดอาการอักเสบ เนื่องจากการอักเสบเรื้อรังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างกายของเราแก่เร็วและเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอายุ การลดการอักเสบอาจช่วยชะลอกระบวนการแก่ตัวได้
นอกจากนี้ กรดไขมันโอเมกา-3 ยังสามารถช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งสามารถช่วยปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ ทั้งยังช่วยเสริมให้เยื่อหุ้มเซลล์แข็งแรง ช่วยปกป้องเซลล์จากการถูกทำลาย และทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งมีส่วนลดความเสี่ยงของโรคที่มาพร้อมกับความชรา
เราไม่จำเป็นต้องรับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 จำนวนมากเพื่อให้ได้รับประโยชน์ต่อสุขภาพ ผู้เข้าร่วมโครงการในกรณีศึกษาดังกล่าวได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 แบบอาหารเสริมปริมาณ 1 กรัม ซึ่งน้อยกว่าปริมาณโอเมกา-3ที่มีอยู่ในปลาแซลมอนขนาด 3 ออนซ์ (85 กรัม) จริงๆ แล้วกรณีศึกษาไม่ได้ระบุว่า ต้องได้รับสารนี้ในปริมาณเท่าใดจึงจะมีประโยชน์ต่อผู้คนมากที่สุด รวมทั้งไม่ได้ชี้ว่า การได้รับโอเมกา-3 จากอาหารจะดีกว่าการรับประทานในรูปแบบอาหารเสริมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านสุขภาพหลายแห่ง รวมถึงสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา แนะนำให้บริโภคกรดไขมันอีพีเอ (โอเมกา-3จากอาหารทะเล) และกรดไขมันดีเอชเอ (กรดไขมันชนิดหนึ่ง มีอยู่ในปลาทะเลน้ำลึกและปลาน้ำจืดบางชนิด) รวมกัน 250 – 500 มิลลิกรัมต่อวัน
สำหรับอาหารที่มีโอเมกา-3 อยู่สูง ได้แก่ อาหารทะเล, เมล็ดเจีย, เมล็ดแฟลกซ์, ถั่วต่างๆ โดยเฉพาะถั่ววอลนัตซึ่งมีโอเมกา-3 อยู่สูงถึง 2.57 กรัมต่อ 1 ออนซ์ (ราว 28 กรัม)
ที่มา : realsimple.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES