ทุก ๆ วันทำงาน ราเดน โรโร เฮนดาร์ตี จะขี่รถสามล้อของเธอ ซึ่งมีบรรทุกกองหนังสือไว้ด้านหลังไปหาเด็กๆ ในหมู่บ้านมันตัง เพื่อให้เด็กนำขยะถ้วยพลาสติก กระเป๋า และขยะอื่นๆ มาแลกกับหนังสือ ขณะเดียวกันเธอก็รับขยะเหล่านั้นกลับมาด้วย

ผู้ก่อตั้งโครงการ “ห้องสมุดแลกขยะ” บอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า เธอกำลังช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เด็ก ๆ และทำให้พวกเขาตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ทันทีที่เธอปรากฏตัวขึ้น เด็กๆ หลายคนที่มากับแม่ของพวกเขาก็จะมาล้อมรอบรถ “ห้องสมุดแลกขยะ” ของเธอและส่งเสียงเรียกร้องเพื่อขอหนังสือ

เด็ก ๆ ทุกคนถือถุงขยะ ซึ่งสามารถนำมาใส่จนเต็มรถสามล้อของเรเดนได้ในเวลาไม่นาน ขณะที่เธอก็ส่งหนังสือออกไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน เธอดีใจที่โครงการนี้มีผลทำให้เด็ก ๆ ใช้เวลากับเกมออนไลน์น้อยลง

เรเดนกำลังชั่งน้ำหนักขยะที่เด็ก ๆ เอามาแลกหนังสือในหมู่บ้านมันตัง

“เรามาสร้างวัฒนธรรมการรู้หนังสือตั้งแต่อายุยังน้อยกันเถอะ เพื่อลดอันตรายของโลกออนไลน์” ราเดนกล่าว “เราควรจัดการขยะของเราด้วย เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปกป้องโลกจากขยะ”

ราเดนเก็บรวบรวมขยะได้ประมาณ 100 กก. ในแต่ละสัปดาห์ จากนั้นเพื่อนร่วมงานของเธอจะคัดแยกและส่งไปรีไซเคิลหรือขาย เธอมีหนังสืออยู่ในสต๊อกเพื่อให้ยืม 6,000 เล่ม และยังอยากจะออกไปให้บริการยังพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

เควิน อลัมไซยาห์ นักอ่านวัย 11 ขวบ ผู้คอยเสาะหาขยะในหมู่บ้านกล่าวว่า “เมื่อมีขยะมากเกินไป สภาพแวดล้อมของเราจะสกปรกและไม่ดีต่อสุขภาพ ผมถึงมองหาขยะเพื่อเอาไปแลกกับการยืมหนังสือ”

ไจอาห์ พาลูพี หัวหน้าห้องสมุดสาธารณะในพื้นที่กล่าวว่า งานของราเดนช่วยเสริมความพยายามของพวกเขาในการต่อสู้กับอาการเสพติดเกมออนไลน์ในหมู่เยาวชนและช่วยส่งเสริมการอ่าน

อัตราการรู้หนังสือสำหรับเด็กอายุมากกว่า 15 ปีในอินโดนีเซียนั้น อยู่ที่ประมาณ 96 เปอร์เซ็นต์ แต่รายงานของธนาคารโลกในเดือนกันยายนเตือนว่า โรคระบาดโควิด-19 จะทำให้เด็กอายุ 15 ปีมากกว่า 80% มีระดับความสามารถในการอ่านต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำสุดที่กำหนดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ

เครดิตภาพ : Reuters