สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ว่า สำนักงานของนายกรัฐมนตรีโมฮาเหม็ด เชีย อัล-ซูดานี ผู้นำอิรัก ระบุในแถลงการณ์ว่า การลงนามในเอ็มโอยูครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัท จีอี เวอร์โนวา

“เอ็มโอยูฉบับนี้ ครอบคลุมโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติร่วม ที่มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 24,000 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโครงการริเริ่มผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุด และก้าวหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิรัก” แถลงการณ์ระบุเสริมว่า เอ็มโอยูดังกล่าวยังรวมถึงบทบัญญัติสำหรับการจัดหาเงินทุนภายนอก ผ่านธนาคารระดับโลกรายใหญ่ด้วย

ทั้งนี้ การลงนามในเอ็มโอยูข้างต้น เกิดขึ้นหลังคณะผู้แทนระดับของสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากบริษัทเอกชน 60 แห่ง เสร็จสิ้นการเดินทางเยือนอิรัก

อนึ่ง อิรักพยายามก้าวข้ามสงครามและความไม่สงบในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งความขัดแย้งที่ยาวนาน ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งผลให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน ซึ่งอุณหภูมิมักจะสูงถึง 50 องศาเซลเซียส

แม้อิรักมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองปริมาณมาก แต่โรงไฟฟ้าหลายแห่งของประเทศ กลับต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากอิหร่าน แต่รัฐบาลแบกแดดเน้นย้ำหลายครั้งว่า อิรักมีเป้าหมายที่จะกระจายแหล่งพลังงานให้ออกห่างจากการพึ่งพาอิหร่าน ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลสหรัฐ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลแบกแดด ยกเลิกการซื้อก๊าซธรรมชาติทั้งหมดจากอิหร่าน.

เครดิตภาพ : AFP