เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 เม.ย. 68 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร มีนายสัญญา นิลสุพรรณ สส.นครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เชิญนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาชี้แจงกรณีเหตุตึก สตง. ที่กำลังก่อสร้างถล่ม ระหว่างเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้ว่าการ สตง. ส่ง นายสุทธิพงษ์ บุญนิธ รองผู้ว่าการ สตง. มาชี้แจงแทน ถือเป็นครั้งแรกที่ สตง. มาชี้แจงกรณีนี้  

โดยนายสุทธิพงษ์ ชี้แจงต่อ กมธ. ว่า ยินดีชี้แจง เพราะต้องการนำเสนอข้อเท็จจริง มั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถนนสุดสายวิ่งมาที่ สตง. แมลงวันบินผ่านก็ด่าได้ จึงอยากขอชี้แจงข้อเท็จจริง โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่พิเศษ การก่อสร้างต้องจ้างออกแบบ จ้างควบคุมงาน ส่วนการป้องกันแผ่นดินไหวต้องไปถามผู้ออกแบบ ซึ่งบอกว่าดำเนินการแล้ว การดำเนินการทุกอย่างยึดหลักกฎหมาย เรื่องการก่อสร้างนั้น มีผู้เข้าประกวดราคา 16 ราย แต่กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ชนะประกวดราคา เป็นบริษัทที่มีทุน และเทคโนโลยีจากจีน ไม่มีการฮั้ว บริษัทฯ ระบุว่าทำงานได้ตามงบประมาณที่เสนอราคาไว้ มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี แต่ได้ขยายเวลามา 2 ครั้ง เนื่องจากโควิด-19 และปรับรูปแบบก่อสร้าง แต่ปรากฏว่า 4 ปี เพิ่งได้ ร้อยละ 33 เพราะผู้รับก่อสร้างมีปัญหาเรื่องทุน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจึงมีมติบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2568 แล้ว และอยู่ระหว่างนำเสนอต่อผู้มีอำนาจดำเนินการ แต่ปรากฏว่ามาเกิดเหตุถล่มเสียก่อน จากนั้น กมธ. ได้ให้สื่อมวลชนออกจากห้องประชุม 

ต่อมาเวลา 14.00 น. น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคประชาชน ในฐานะโฆษก กมธ.กรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังเชิญรองผู้ว่าการ สตง. มาชี้แจงว่า กมธ. ได้ซักถามถึงรายละเอียดโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่ ทั้งการออกแบบ การจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง และการควบคุมงานก่อสร้าง ได้รับการยืนยันจาก สตง. ว่า ทุกอย่างดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายทุกขั้นตอน ส่วนการแก้ไขสัญญารวม 9 ครั้ง เนื่องจากปัญหาแบบงานโครงสร้างด้านวิศวกรรมขัดกับงานสถาปัตยกรรม แต่ทุกกรณีได้หารือไปยังผู้ออกแบบทุกครั้ง สตง. ยืนยันไม่มีการแก้ไขโครงสร้างเสาให้เล็กลง รวมถึงคุณภาพเหล็ก ปูน ก็เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. มีการทดสอบแรงดึง และการดัดโครงของเหล็กผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ไม่มีการลดคุณภาพ ส่วนที่อาคารใหม่ สตง. ต้องก่อสร้างใหญ่โตนั้น เนื่องจากปัจจุบัน สตง. ไม่มีสำนักงานของตัวเอง ตึกที่สร้างใหม่จะรองรับข้าราชการได้ 2,400 คน รวมถึงรองรับผู้แทนองค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศด้วย ส่วนเรื่องการประกันภัยตัวอาคารนั้น สตง. ยืนยันว่า ผู้ก่อสร้างได้ซื้อประกันภัยก่อสร้างครอบคลุมเต็มวงเงินในสัญญา 

นายสัญญา นิลสุพรรณ สส.นครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า ตัวแทน สตง. ชี้แจงว่า การก่อสร้างอาคาร สตง. ล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญา เพราะบริษัทรับเหมามีปัญหาเรื่องทุน ดังนั้นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จึงบอกเลิกสัญญาก่อสร้าง เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2568 แต่ขั้นตอนยกเลิกสัญญายังไม่เสร็จสิ้น อยู่ระหว่างรอให้คณะกรรมการ สตง. เป็นผู้อนุมัติ แต่ปรากฏว่า เกิดเหตุถล่มลงมาก่อน เมื่อบริษัทผู้รับเหมาทราบว่า จะถูกยกเลิกสัญญาก่อสร้าง เพราะมีปัญหาเรื่องทุน จึงรีบเกณฑ์คนงานเข้ามาก่อสร้าง เพื่อให้เห็นว่า ตัวเองมีศักยภาพทำงานต่อไปได้ จากเดิมที่มีอยู่ 80 คนต่อวัน ขนคนมาเพิ่มเป็น 400 คนต่อวัน จึงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้ สตง. ระบุว่า จะออกมาแถลงความชัดเจนทุกเรื่องอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้.