หัวเมืองเหนืออย่างเชียงใหม่มี “พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร” สถานีไปรษณีย์แห่งแรกของเชียงใหม่ที่ให้ความรู้สึกราวกับย้อนอดีตทันทีที่เข้าไป นอกจากจะเป็นสถานที่ที่ให้ข้อมูลเรื่องตราแสตมป์อากรณ์สมัยก่อนแล้ว ยังรวบรวมเครื่องมือสื่อสารในยุคสมัยก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ เครื่องฉายแบบฉายแผ่นฟิล์มและแบบโบราณ โต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ แล้วยังมีมุมถ่ายรูปสไตล์ย้อนยุคให้เลือกแชะแล้วแชร์มากมาย

ขึ้นไปเชียงรายชวนไป “หอประวัติเมืองเชียงราย” ที่อยู่ภายในศูนย์วัฒนธรรมนิทัศน์และพิพิธภัณฑ์เมืองเชียงราย 750 ปี โดยปรับปรุงอาคารหอประชุมเม็งรายอนุสรณ์เดิมเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านภูมิหลังของท้องถิ่น ภายในจัดแสดงเนื้อหาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคของการสร้างบ้านเมือง นอกจากนั้นยังจัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิตภูมิปัญญา การเมืองการปกครองและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันน่าภูมิใจของคนเชียงราย

ไปแม่ฮ่องสอนต้องแวะ “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” พิพิธภัณฑ์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวแม่ฮ่องสอน เกิดจากความร่วมมือของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และ 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนป๊อกกาดเก่า ชุมชนกลางเวียง ชุมชนตะวันออก ชุมชนหนองจองคำ ชุมชนปางล้อ และชุมชนดอนเจดีย์ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ชมและเรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทใหญ่ บ้านโบราณ อาหารและขนมประจำถิ่น และประเพณีสำคัญของแม่ฮ่องสอน

ส่วนแพร่มีทั้ง “พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ” อาคารสีเหลืองสร้างเลียนแบบสถานีรถไฟบ้านปิน ภายในจัดแสดงผ้าโบราณเมืองลอง ผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งต่าง ๆ และที่น่าสนใจคือห้องพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาบาร์บี้สวมชุดผ้าซิ่นเมืองลอง และยังมีส่วนร้านค้าจัดจำหน่ายผ้าตีนจก อีกแห่งคือ “พิพิธภัณฑ์เสรีไทย” สถานที่เก็บรักษาความทรงจำอันมีค่าในฐานะศูนย์กลางของขบวนการเสรีไทยในภาคเหนือ นอกจากจะเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษผู้กล้าในยุคนั้น ยังเป็นการเล่าเรื่องราวสำคัญในอดีตของเมืองแพร่ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

ลำปางมี “พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี” พี่เล่าเรื่องราวของนายอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน ที่ได้ค้นพบแร่ดินขาวครั้งแรกที่บ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม ช่วงปี พ.ศ. 2498 และได้ร่วมก่อตั้งโรงงานเซรามิคแห่งแรกเพื่อผลิตชามตราไก่ส่งขายไปทั่วประเทศ สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับจังหวัดลำปางจนถึงปัจจุบัน จนในปี พ.ศ. 2508 ได้ก่อตั้งโรงงานธนบดีสกุล  ผลิตถ้วยขนมและถ้วยตะไลด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม

ขณะที่ลำพูนมีพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งอย่าง “สะพานขาวทาชมภู” อยู่ระหว่างสถานีรถไฟขุนตานกับสถานีรถไฟทาชมภู เป็นสะพานโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลักษณะรูปทรงโค้ง ทาด้วยสีขาว รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก และ “สกายวอล์ควัดดอยติ” มองเห็นวิวพระธาตุสี่ครูบา วัดพระพุทธบาทตากผ้า ดอยอินทนนท์ ดอยสุเทพ ดอยงุ้ม ดอยขะม้อ และวิวของลำพูนและเชียงใหม่แบบ 360 องศา

น่านมี “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดน่าน” ตั้งอยู่ในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน เดิมเป็นหอคำที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าน่านทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับ ภายในจัดแสดงเกี่ยวกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตั้งแต่การสร้างบ้านแปงเมือง แหล่งโบราณคดีและโบราณวัตถุ งาช้างดำ ซึ่งสมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองน่านมาแต่โบราณ และเรื่องราวชาติพันธุ์

ส่วนพะเยามี “หอวัฒนธรรมนิทัศน์” อยู่ติดกับวัดศรีโคมคำ ภายในจัดแสดงวัตถุโบราณ เอกสารข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งทางด้านวรรณกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี และวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านในจังหวัดพะเยา อาทิ เครื่องปั้นดินเผาอายุ 500 กว่าปี ฉัตรทองคำอายุ 500 กว่าปี ซากฟอสซิลช้าง 4 งา อายุ 15 ล้านปี “หลวงพ่อพระเจ้าองค์ดำ” พระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์แก่ทองคำ

ฝั่งสุโขทัยมี “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง” ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นที่รวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียงเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์และตาก รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสุโขทัยในด้านต่าง ๆ ประติมากรรมปูนปั้น ที่ใช้สำหรับประดับตกแต่งปราสาท เจดีย์ วิหารและอาคารต่าง ๆ ที่พบจากโบราณสถาน ศิลปวัตถุขนาดใหญ่ที่ได้รับการขุดแต่งและบูรณะ

กำแพงเพชรมี “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร” สถานที่เก็บรวบรวม สงวนรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ภายในจัดแสดงเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชร เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยสุโขทัย โบราณวัตถุ ที่น่าสนใจ ได้แก่ เครื่องมือหินขัด ชิ้นส่วนตะเกียงดินเผาแบบโรมัน ลูกปัดแก้วและหิน เครื่องมือเครื่องใช้โลหะ แม่พิมพ์ดินเผาสมัยลพบุรี เครื่องสังคโลก พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยสกุลช่างกำแพงเพชร

มาที่พิษณุโลกมี “ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์” สถานที่เรียนรู้ ศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลก จัดสร้างเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ลักษณะเป็นอาคารกลุ่มชั้นเดียวเชื่อมต่อกัน สถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์หลังคาทรงปั้นหยาผสมจั่ว ใกล้กันที่เพชรบูรณ์มี “พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์” ตั้งอยู่กลางถนนคนเดินไท-หล่ม นำเสนอเรื่องราวของ อ.หล่มสัก บุคคลสำคัญ และประวัติของ อ.หล่มสัก

ไปที่ตากมี “พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตาก” ปรับปรุงอาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก (หลังเก่า) ซึ่งเคยเป็นเรือนประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนิน รวมทั้งการจัดแสดงและรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดตาก อาทิ นาฬิกาโบราณ  กลองมโหระทึก เครื่องกรองน้ำโบราณ พระพุทธรูปสมัยทวารวดี อิฐจารึกภาษาจีน หีบใส่ผ้าโบราณ เครื่องสังคโลก พระพุทธรูปจับขโมย หรือหีบพระธรรม

อุทัยธานีมี “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น” อาคารไม้สองชั้นอายุกว่า 80 ปี สีเขียวอ่อน ภายในจัดแสดงเกี่ยวกับโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายยศเจ้าเมือง ห้องจำลองไม้จำหลัก และบ้านไทย ส่วนนครสวรรค์มี “พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม” องค์เจดีย์สีขาวด้านในแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นบนประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ หันหน้าออกไป 4 ทิศ และชั้นล่างเป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับหลวงพ่อเดิมและโบราณวัตถุที่ค้นพบบริเวณบ้านหนองโพตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเชื่อว่าหมู่บ้านแห่งนี้เคยมีคนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยมีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องประดับและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ

ถ้าไปพิจิตรต้องแวะ “พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์” แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบชุมชนที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาอาศัยที่บ้านดง รวมถึงการมาเยือนของท่านประธานาธิบดีโฮจิมินห์ และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างไทย-เวียดนาม

แต่ถ้าไปอุตรดิตถ์ตรงไป “พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล” ศูนย์กลางเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตชุมชนของเมืองลับแล ต่อด้วย “พิพิธภัณฑ์บ้านกนกมณี” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 โดย อำมาตย์โท พระยาอัธยาศัยวิสุทธิ์ (โชติ กนกมณี) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ต้นตระกูลกนกมณี อาคารเรือนไทยประยุกต์ 3 หลัง สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง มีชานเชื่อมต่อกันทุกหลัง ปัจจุบันเหลือเพียงเรือนพิพิธภัณฑ์ 1 หลัง ที่เปิดให้เข้าชมได้ สิ่งน่าสนใจได้แก่ ห้องพระ สร้างโดยช่างชาวจีนไหหลำ ฝ้าหลังคาเป็นไม้ทรงโค้ง มีหน้าต่างบานกระทุ้งสามตอน ในลับแลยังมี “พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวนลับแล” ศูนย์การเรียนรู้ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าตีนจกไท-ยวน ก่อตั้งโดย ครูโจ-จงจรูญ มะโนคำ

อุตรดิตถ์ยังมี “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้” ด้วยอีกแห่ง เป็นแหล่งเหล็กกล้าที่นำมาทำพระแสงดาบตั้งแต่สมัยโบราณ และรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับเหล็กน้ำพี้ โดยจัดแสดงและจำลองให้เห็นถึงกระบวนการ ขั้นตอนการตีเหล็กน้ำพี้ ตั้งแต่การขุดแร่เหล็กน้ำพี้จนตีเป็นดาบที่มีความแกร่งและความคมเป็นเลิศ อาวุธคู่กายของขุนศึกและนักรบไทยในสมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมี “พิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” อยู่ใกล้อนุสาวรีย์พระยาพิชัยเป็นที่เก็บรักษาดาบเหล็กน้ำพี้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาว 9.24 เมตร