สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ว่า นายกรัฐมนตรีมาแตอุซ มอราวีแยตสกี ผู้นำโปแลนด์ แถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เกี่ยวกับสถานการณ์ตามแนวพรมแดนทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งติดกับภาคตะวันตกของเบลารุส และผู้อพยพผิดกฎหมายจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวอิรัก ยังรวมตัวกันอยู่ในฝั่งของเบลารุส เพื่อหาทางข้ามพรมแดนเข้าสู่ทวีปยุโรปผ่านโปแลนด์ ว่าวิกฤติด้านมนุษยธรรมตามแนวชายแดนครั้งนี้ เกิดขึ้นจาก “น้ำมือ” ของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส “และบงการโดยรัสเซีย” เพื่อใช้กลุ่มคนเหล่านี้ “เป็นเครื่องมือทางการเมือง”

ทหารและตำรวจโปแลนด์เสริมแนวรั้วลวดหนาม ตามแนวพรมแดนที่ติดกับเบลารุส เพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดนของผู้อพยพที่อยู่อีกฝั่ง


ด้านคณะกรรมาธิการยุโรป ( อีซี ) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ( อียู ) ยืนยันเตรียมยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อลูคาเชนโก และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเบลารุสอีกหลายคน ที่เจตนาสร้างสถานการณ์ตึงเครียดตามแนวชายแดนติดกับโปแลนด์ ซึ่งถือเป็น “พรมแดนตะวันออกสุด” ของทวีปยุโรป ที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน และมีผู้อพยพเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 7 ราย ที่อียูมองว่า “เป็นการเอาคืน” ต่อกรณีอียูคว่ำบาตรลูคาเชนโกครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว จากความขัดแย้งเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเบลารุส ซึ่งลูคาเชนโกชนะเป็นสมัยที่ 6 ติดต่อกัน แต่หลายประเทศไม่ยอมรับ และประณามว่า “มีการทุจริตเป็นวงกว้าง”


ขณะที่ กระทรวงกลาโหมของเบลารุสเชิญผู้ช่วยทูตทหารของโปแลนด์เข้าพบ “เพื่อประท้วงอย่างเป็นทางการ” ต่อ “ข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง” และ “แสดงความวิตกกังวล” ต่อการที่โปแลนด์เสริมกำลังทหารมากกว่า 6,000 นาย ตลอดแนวชายแดนที่ติดกัน


ด้านนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.การต่างประเทศรัสเซีย กล่าวถึงสถานการณ์ระหว่างพรมแดนเบลารุสกับโปแลนด์ ว่า อียูควรมอบเงินสนับสนุนให้แก่เบลารุส เพื่อใช้ในการควบคุมสถานการณ์ แบบเดียวกับที่เคยตกลงกับตุรกี เมื่อครั้งเกิดวิกฤติแบบเดียวกันนี้ เมื่อปี 2558.

เครดิตภาพ : AP