ท้องฟ้าของหมู่บ้านราดีนัค ซึ่งอยู่ห่างจากเตาหลอมขนาดใหญ่ของโรงถลุงเหล็กของจีนในเซอร์เบียตอนกลางเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ปกคลุมไปด้วยฝุ่นสีแดงหนาทึบ หมู่บ้านแห่งนี้มีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น 4 เท่าในเวลาไม่ถึงทศวรรษ และชาวเมืองต่างต้องการให้มีการทำความสะอาดโรงงานหรือปิดไปเลย

โซรัน ชายวัย 70 ปี ผู้ป่วยมะเร็งลำคอและต้องตัดกล่องเสียงทิ้ง กล่าวว่า ชาวบ้านต้องตากผ้าในบ้านและใช้น้ำส้มสายชูทำความสะอาดรถที่เปื้อนฝุ่น

“น้ำล้างฝุ่นไม่ออก” เขากล่าว “เราไม่ออกนอกบ้านกัน เราไม่กล้าหรอก”

จากข้อมูลของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของเขตสเมเดเรโว ระบุว่าเขตเทศบาลแห่งนี้มีประชากรราว 100,000 คน แต่มีรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคมะเร็งถึง 6,866 คนในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจากจำนวน 1,738 คนในปี 2554

หญิงชราวัย 86 ปี และบ้านของเธอในหมู่บ้านสเมเดเรโว ตัวบ้านแต่เดิมเป็นสีขาว แต่ปัจจุบันกลายเป็นสีแดงเพราะฝุ่นที่ปกคลุมตัวบ้าน

โรงงานอ้างว่า บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 300 ล้านยูโร ด้านเทคโนโลยีและการลดมลพิษ นับตั้งแต่บริษัทเฮสตีล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของจีน ซื้อโรงงานดังกล่าวจากรัฐเซอร์เบียด้วยเงิน 46 ล้านยูโร เมื่อห้าปีก่อน

“พวกเราทุกคนเป็นพลเมืองของสเมเดเรโว เราจะอยากทำงานแม้จะมีมลพิษ ทั้งต่อตนเองและลูกหลานของเรากันหรือ” ลิวบีชา เดรก ผู้จัดการฝ่ายรักษาสิ่งแวดล้อมของโรงงานกล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งให้สำนักข่าวรอยเตอร์

เธอกล่าวว่า โรงงานผลิตแห่งใหม่ 3 แห่ง จะช่วยลดมลพิษได้อย่างมากหลังจากที่สร้างเสร็จในปี 2565 และแย้งว่า “ไม่ถูกต้อง” ที่จะสรุปว่าอัตราการเกิดมะเร็งที่สูงขึ้นนั้น มาจากการกระทำของโรงงาน และเสริมว่าโรคนี้อาจเป็นผลมาจากการทิ้งระเบิดที่เซอร์เบียขององค์การนาโตในปี 2542 ระหว่างสงครามในโคโซโว

แต่นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า โรงงานดังกล่าวเป็นตัวอย่างของบริษัทอุตสาหกรรมของจีนที่ไม่สนใจมาตรฐานด้านมลพิษ

นิโกลา เคิร์สติก หัวหน้าของกลุ่มอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อมทวารดาวา กล่าวว่า ผลจากการวิเคราะห์ฝุ่นสีแดงในเดือนกันยายน แสดงให้เห็นว่ามีโลหะหนักปะปนอยู่สูง

“อากาศในเมืองนี้ต่ำกว่ามาตรฐานยุโรปเป็นจำนวนมากถึง 120 วันต่อปี” เขากล่าวกับรอยเตอร์ “ฝุ่นสีแดงเป็นมันเยิ้ม มันเกาะปอด ทำให้หายใจลำบาก”

ประเทศจีนได้ลงทุนหลายพันล้านยูโรในเซอร์เบีย ซึ่งเป็นผู้สมัครเข้าร่วมสหภาพยุโรป แต่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับประเทศในซีกโลกตะวันตกมานานกว่าสองทศวรรษ หลังจากสงครามที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลังจากการล่มสลายของยูโกสลาเวีย จึงพยายามสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรุงปักกิ่ง แต่เจ้าหน้าที่ในกรุงเบลเกรดกล่าวว่าพวกเขาพร้อมที่จะเอาจริงกับบริษัทของจีนเรื่องมลพิษ

ในเดือนเมษายน ทางการเซอร์เบียได้สั่งให้บริษัทซีจิน ไมนิ่ง กรุ๊ป ของจีน หยุดดำเนินการบางส่วนในเหมืองทองแดงแห่งเดียวของประเทศชั่วคราว เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ทางเหมืองกล่าวว่าจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดอย่างรวดเร็ว และได้รับอนุญาตให้เปิดเหมืองใหม่ได้ โซรานา มิฮัจโลวิค รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของเซอร์เบีย บอกกับรอยเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ไม่เพียงแต่ผู้ก่อมลพิษจะต้องถูกปรับ หากพวกเขาไม่สามารถลดมลพิษได้ พวกเขาก็ต้องหยุดดำเนินการ”

เครดิตภาพ : Reuters