เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศช่วง ก่อนศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดแกนนำม็อบราษฎร 3 คนประกอบนายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” เข้าข่ายใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ซึ่งเป็นคำร้องของนายณฐพร โตประยูร เมื่อเดือน ก.ย. ปี 2563

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยชี้ขาด น.ส.ปนัสยา รวมถึงทนายความของนายอานนท์ และทนายความนายภาณุพงศ์ แจ้งต่อศาล ไม่ประสงค์อยู่รับฟังคำวินิจฉัย ขอออกจากห้องพิจารณาคดี โดยให้เหตุผลศาลไม่ได้ไต่สวนผู้ถูกร้องอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ได้เชิญนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ “ส. ศิวรักษ์” มารอไต่สวนด้วย

ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า ศาลพิจารณาคดีโดยใช้ระบบไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงจากหลายฝ่าย เมื่อได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนที่สามารถวินิจฉัยได้จึงสั่งงดการไต่สวนซึ่งเป็นคำสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนการไม่ประสงค์ฟังคำวินิจฉัยก็เป็นสิทธิ

ส่วนข้ออ้างของฝ่ายผู้ถูกร้องที่ว่าไม่ได้ไต่สวน แต่ความจริงกระบวนการพิจารณาของศาลไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริงทุกอย่าง เอกสารที่ได้มาส่งให้ผู้ถูกร้องหมดแล้ว ผู้ถูกร้องมีหน้าที่โต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งศาลได้รับหมดแล้วถือว่าให้ความเป็นธรรมและยุติธรรมกับผู้ถูกร้องทั้งหมด ไม่ใช่การพิจารณาในระบบกล่าวหา แต่เป็นระบบไต่สวนซึ่งศาลมีอำนาจไต่สวนแจ้งให้ผู้ถูกร้องทราบ พยานหลักฐานทุกอย่างและให้โอกาสโต้แย้ง ดังนั้นกระบวนการพิจารณาถูกต้อง “สิ่งที่คุณอ้าง ก็เป็นข้ออ้างของคุณ” ยืนยันว่าเรื่องนี้ศาลใช้เวลาพิจารณาเป็นปี รอบคอบในการหาพยานหลักฐาน ไม่ใช่รับคำร้องมาแล้วตัดสิน ใช้เวลาปีเศษด้วยซ้ำไป.