เมื่อวันที่ 11 พ.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 27 โดยมี Mr. Sun Chanthol รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของกัมพูชา เป็นประธานการประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินงานของคณะทำงานรายสาขาทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง จากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งของอาเซียนในปี 64 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์กัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur Transport Strategic Plan : KLTSP) ปี 59-68 หรือแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของอาเซียน

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนได้ให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญ 4 ฉบับ ดังนี้ 1.แนวทางการดำเนินงานสำหรับการพัฒนาแผนการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืนในเมืองภูมิภาคขนาดใหญ่ของอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางการวางแผนงานร่วมในการออกแบบ และบูรณาการการขนส่งในเขตเมืองกับการวางแผนการใช้พื้นที่ 2.ชุดเครื่องมือสำหรับการจัดตั้งคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการขนส่งในเมืองภูมิภาคขนาดใหญ่ของอาเซียน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน ในการจัดทำแผนการขนส่งที่ครอบคลุมในเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งจะสนับสนุนการจัดการข้ามหน่วยงานและช่วยแก้ไขประเด็นความแตกต่างของระบบขนส่งในเมืองของเมืองภูมิภาคขนาดกลางของอาเซียนที่มีความหลากหลาย

3.ปฏิญญาพนมเปญว่าด้วยการขนส่งในเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้อาเซียนมีการจัดทำและดำเนินการตามโมเดลของเอกสารทั้ง 2 ฉบับที่กล่าวมา อันจะเป็นการสนับสนุนการบูรณาการการขนส่งที่ยั่งยืนและการวางแผนการใช้พื้นที่ในภูมิภาคอาเซียน และ 4.พิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 12 ของบริการขนส่งทางอากาศภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน เป็นการอำนวยความสะดวกการดำเนินการเปิดเสรีบริการเสริมด้านการขนส่งทางอากาศของอาเซียน ซึ่งจะมีการลงนามเอกสารแบบเวียนต่อไป 

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า การให้การรับรองเอกสารดังกล่าว เป็นการยกระดับการขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศของอาเซียน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการวางแผน การขนส่งและการพัฒนาระบบขนส่งแบบบูรณาการในเขตเมืองของอาเซียนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและนโยบายระดับชาติของประเทศ ในการเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ในภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยตนได้นำเสนอนโยบายของกระทรวงคมนาคมตามแผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (ปี60-79) ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง 

รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อยกระดับระบบการให้บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ อาทิโครงการระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า โครงการ Port Community System ระบบควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล (Vessel Traffic System : VTS) และโครงการ Air Cargo Digital Platform 

พร้อมกันนี้ได้นำเสนอโครงการสำคัญที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมและโลจิสติกส์ภายในประเทศ เพื่อเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอาเซียนและภายนอกอาเซียน ได้แก่ แผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge).