ถ้ำ Cueva de Sangre หรือ “ถ้ำโลหิต” ในประเทศกัวเตมาลานั้น ตั้งชื่อตามสภาพการใช้งานของสถานที่ซึ่งเป็นจุดรวบรวมชิ้นส่วนศพมนุษย์ที่ถูกชาวมายานำตัวมาบูชายัญแด่เทพเจ้าแห่งฝนของพวกเขา

ถ้ำแห่งนี้และซากกระดูกมนุษย์ที่อยู่ภายใน ถูกค้นพบครั้งแรกในทศวรรษ 1990 ตั้งอยู่ในไซต์ขุดค้นทางโบราณคดีชาวเผ่ามายาโดส ปิลาส เขตการปกครองเปเตน โดยเป็นหนึ่งในถ้ำประมาณ 12 แห่งที่ชาวมายาใช้เป็นประจำระหว่าง 400 ปีก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ. 250 

อย่างไรก็ตาม “ถ้ำโลหิต” โดดเด่นจากถ้ำอื่นๆ ที่ค้นพบเนื่องจากมีกระดูกมนุษย์กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นถ้ำ ซึ่งเป็นกระดูกที่พบร่องรอยการชำแหละและบาดแผลรุนแรง

แต่การวิจัยโครงการล่าสุดที่นำเสนอในการประชุมประจำปีของสมาคมโบราณคดีอเมริกันภายใต้หัวข้อว่า “Black as Night, Dark as Death” ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการค้นพบนี้ นอกเหนือจากความโหดร้ายที่มีร่องรอยปรากฏเด่นชัด

มิเชล บลูซ นักชีวโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนียในลอสแอนเจลิสกล่าวว่า “ซากโครงกระดูกมนุษย์ที่ถูกทิ้งไว้ในถ้ำ บ่อเซโนเต (Cenote) หลุมเก็บของใต้ดิน (Chultun) และห้องใต้ดินตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้นอื่นๆ ให้ข้อมูลบริบทที่ดีที่สุดในการตรวจสอบพฤติกรรมตามพิธีกรรมของชาวเมโสอเมริกาโบราณ”

ทางเข้าถ้ำที่ลงไปได้เพียงปีละ 3 เดือนในช่วงหน้าแล้ง (Noche de la pena)

บลูซกล่าวว่า ลึกลงไปในถ้ำดังกล่าวซึ่งเข้าได้ทางช่องเปิดเล็กๆ ที่มีทางเดินลาดลงสู่แอ่งน้ำ และเข้าถึงได้เฉพาะในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น พวกเขาพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมากกว่า 100 ชิ้นที่เต็มไปด้วยบาดแผล แสดงให้เห็นว่าซากศพเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งฝนของชาวมายา 

“รูปแบบที่ปรากฏให้เห็นคือมีแต่บางชิ้นส่วนของร่างกาย ไม่ใช่ศพทั้งร่าง ในพิธีกรรมของชาวมายา ชิ้นส่วนของร่างกายมีค่าเท่ากับร่างกายทั้งหมด” บลูซอธิบาย

กระดูกเหล่านั้นไม่ได้ถูกฝัง และบาดแผลก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเสียชีวิต ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปของผู้ที่ศึกษาซากศพว่า ชิ้นส่วนกระดูกเหล่านี้มาจากการชำแหละร่างเหยื่อตามพิธีกรรม

ทีมวิจัยชี้ว่า “ประเภทของชิ้นส่วนโครงกระดูกที่ปรากฏร่องรอยบาดแผล การจัดเรียงกระดูก และการดัดแปลงกระดูก ล้วนสนับสนุนลักษณะของการบูชายัญอย่างมาก”

โครงกระดูกของเหยื่อสังเวยตามพิธีกรรมของชาวมายาในบ่อคานุม

เอลเลน ฟริคาโน นักมานุษยวิทยานิติเวชแห่งมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นเพื่อวิทยาศาสตร์สุขภาพในแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า เครื่องมือที่มีขอบเอียง คล้ายกับขวาน พบร่องรอยที่โดดเด่นบนหน้าผากด้านซ้ายของกะโหลกศีรษะชิ้นหนึ่งซึ่งเกิดจากเครื่องมือที่มีขอบคมลาดเอียง คล้ายกับขวาน ร่องรอยที่คล้ายกันนี้ยังถูกพบที่ชิ้นส่วนกระดูกสะโพกของเด็กร่างหนึ่ง

แม้แต่วิธีการวางกระดูกภายในถ้ำ เช่น การวางกะโหลกศีรษะซ้อนกันสี่ชิ้นในจุดเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดคำถาม ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า บาดแผลที่รุนแรง ปริมาณกระดูกจำนวนมาก รวมกับสิ่งของตามพิธีกรรมอื่นๆ เช่น ดินสีแดงและใบมีดหินออบซิเดียน แสดงให้เห็นว่าถ้ำโลหิตแห่งนี้ไม่ใช่สถานที่ฝังศพธรรมดา

ทีมวิจัยวางแผนที่จะทำการตรวจดีเอ็นเอเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกระดูกเหล่านี้ให้มากขึ้น บลูซกล่าวว่า “ตอนนี้ สิ่งที่เราสนใจมากคือ คนเหล่านี้ที่ถูกนำมาทิ้งไว้ที่นี่คือใคร เพราะพวกเขาได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากประชากรส่วนใหญ่โดยสิ้นเชิง”

ที่มา : popularmechanics.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES