ด้วยพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มีการใช้บริการ แพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) เพื่อ “เสพความบันเทิง” จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การดูหนัง ฟังเพลง ไปจนถึง การชอปปิงออนไลน์

 แต่ปัจจุบันแพลตฟอร์มที่ให้บริการในไทยส่วนใหญ่ มาจากผู้ให้บริการในต่างประเทศ 

เมื่อมองย้อนกลับมาถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ประเทศไทยจะมี “ แพลตฟอร์มดิจิทัล” สัญชาติไทย พัฒนาโดยคนไทย เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย และให้สามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์ม จากต่างประเทศ ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดโลก นำเม็ดเงินรายได้เข้าประเทศ!!

แม้ที่ผ่านมาจะคนไทยพยายามพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มขึ้นมาให้บริการ แต่หากวัดในเรื่องความสำเร็จ ยังคงเป็นอากาศจับต้องไม่ได้มาก

การที่แพลตฟอร์มของไทยจะมีโอกาสท้าชนกับคู่แข่งระดับอินเตอร์ได้ต้องมีอะไรบ้าง?

ในเวทีเสวนา “Digital Video Platform Seminar 4D : เผย 4 มิติ ดิจิทัลวิดีโอแพลตฟอร์ม ขับเคลื่อน อุตสาหกรรม คอนเทนต์ไทย”  ที่ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า และพันธมิตร จัดขึ้น มีมุมมอง น่าสนใจ ว่า “ไทยพร้อมแล้วหรือยัง ?” ที่จะมีแพลตฟอร์มดิจิทัลของตนเอง เพื่อท้าชนกับ แพลตฟอร์มดิจิทัล ของ ต่างประเทศ

 “ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการ เอ็ตด้า บอกว่า ผู้ให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ไทย เติบโตขึ้นเพียง 10% แต่เมื่อมองภาพรวมตลาดทั่วโลกจะเห็นว่ามีการเติบโตอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ยอดการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับ วิดีโอ บางรายที่เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกเติบโตมากกว่า 40% ขณะที่การใช้เวลาบนแอพฯ การแบ่งปันวิดีโอ เติบโตสูงถึง 70-80% ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าผู้ประกอบการด้านนี้ของไทย น่าจะยังเติบโตกว่านี้ได้อีก

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าคนในยุคปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่บนแพลตฟอร์มค่อนข้างมาก โจทย์ข้อสำคัญ คือ จะมีการปรับตัว ทั้งของภาครัฐและเอกชนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่นี้ได้อย่างไร??

แพลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็น ของต่างประเทศ ดังนั้น จึงเปรียบเสมือนกับ “การเอาชีวิตไปฝากไว้กับคนอื่น” ต้องไปอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของคนอื่น ภาครัฐไม่สามารถ เข้าไปดูแลประชาชน และผู้ผลิตสื่อได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดปัญหากับผู้ใช้บริการ

ทางเอ็ตด้า มองว่า ดิจิทัล วิดีโอ แพลตฟอร์ม  เป็นสาขาที่ประเทศไทย มีศักยภาพ ที่จะเติบโตได้อีกมาก ผู้ผลิตสื่อของไทยหลายราย มีต่างประเทศติดตามและนำสื่อไปใช้ ทำซ้ำ  เช่น เกมโชว์ ภาพยนตร์ แต่เนื่องจากแพลตฟอร์มในด้านนี้ของคนไทยยังมีน้อย จึงมองถึงการส่งเสริม เพื่อให้สามารถแข่งขัน กับต่างประเทศ โดยจะมีการศึกษาวิเคราะห์ถึงข้อจำกัด โอกาส กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อสำหรับวิดีโอ คอนเทนต์ สตรีมมิ่งของประเทศไทย

ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการ อย่าง “วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และอุตสาหกรรมสื่อและธุรกิจดิจิทัล มองว่า ปัจจุบันการแข่งขัน ในโลกออนไลน์เข้มข้นมาก ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคเจนเนอเรชั่นหลังๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ได้เปลี่ยนช่องทางการรับชม โทรทัศน์ไปรับชมผ่านแพลตฟอร์มอื่น เช่น โอทีที (OTT : Over-the-top) หรือ บริการที่รับชมภาพยนตร์ วิดีโอและคอนเทนต์ ต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีทั้งแบบชมฟรีและเสียค่าบริการ อาทิ ยูทูบ เน็ตฟลิกซ์ ฯลฯ โดยประชากรกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การจะดึงให้อยู่กับคอนเทนต์ของรายใดๆ จึงเป็นเรื่องท้าทาย สำหรับผู้ประกอบการ และต้องพัฒนาไปถึงจุดที่ทำให้ผู้ชมเต็มใจในการจ่ายค่าบริการให้มากขึ้น

ด้าน “ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง” อนุกรรมการกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) เห็นว่า การกำกับดูแลแพลตฟอร์ม ไม่ได้มองที่บทบาทรัฐเป็นหลักอีกต่อไป เพราะแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ระดับโลก ไม่ได้สนใจกฎระเบียบของแต่ละประเทศ แต่มองว่าประเทศไหนที่มีผู้ใช้บริการ ก็จะหาทางนำบริการของตนเข้าไป ดังนั้น กฎหมายแต่ละประเทศที่เคยดีลอยู่กับผู้ประกอบการ หรือคนในประเทศจึงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป

“การกำกับดูแลที่จะส่งเสริมให้เกิด แพลตฟอร์มดิจิทัล ของคนไทยที่ประสบความสำเร็จ รัฐต้องกำกับดูแล อย่างเหมาะสม และมีการสนับสนุนเงินทุน และสร้างคนของเราขึ้นมา เน้นว่าถ้าอยากสนับสนุนต้องเห็นเงิน ต้องมีตัวเลขที่ให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถแข่งระดับโลกได้จริง งบประมาณจึงต้องมา ควบคู่กับการสร้างระบบนิเวศ สนับสนุน โดยอาจสร้างให้เกิดการรวมตัวกัน แล้วรัฐเข้าไปช่วยส่งเสริม”

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองโมเดล และการกำกับดูแล OTT ของนานาประเทศนั้น  ในมุมมองของ“พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล” คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า โมเดลการส่งเสริมและกำกับดูแล ของบางประเทศ  สามารถนำแนวทางมาปรับใช้เป็นต้นแบบสำหรับไทยได้ เช่น สิงคโปร์ ใช้นโยบายเปิดเสรีให้ตัวเองเป็นฮับของภูมิภาค เพื่อดึงฐานการลงทุนของอุตสาหกรรม OTT มาตั้งสาขาอยู่ที่สิงคโปร์ ปัจจุบันแพลตฟอร์มระดับโลกหลายราย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ต่างมีสำนักงานที่สิงคโปร์

ส่วน เกาหลีใต้ ผลักดันคอนเทนต์สัญชาติเกาหลีออกไปเป็นปริมาณมาก ไปอยู่บนแพลตฟอร์มต่างชาติ เพื่อให้คอนเทนต์ได้เกิดและใช้สร้างรายได้ เพราะการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองจะทำให้มีภาระหนัก จึงเลือกพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ แต่โปรโมตเป็นคอนเทนต์สัญชาติเกาหลี

ขณะที่อังกฤษ เป็นประเทศที่มีการเปิดเสรีมาก และหากย้อนหลังไปจะพบว่าสถานีโทรทัศน์ในประเทศ รวมถึงบีบีซีได้มีการขยับขึ้นไปสู่ OTT ก่อนที่เน็ตฟลิกซ์จะเข้าเจาะตลาด ส่วนญี่ปุ่น ได้ใช้รูปแบบการเปิดตลาดเสรี และมี OTT ที่เป็นผู้ประกอบการในประเทศจำนวนมาก มาจากทั้งช่องเคเบิลทีวี ฟรีทีวี อุตสาหกรรมเกม ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย ถึงเวลาที่ต้องมองแล้วว่า เรามีการแข่งขันรายล้อม เราจะวางจุดยืนอย่างไร เมื่อมีตัวอย่างของสิงคโปร์ ที่ใช้มาตรการลดหย่อนภาษีดึงดูดคนทำคอนเทนต์เก่งๆ คนทำแพลตฟอร์มจากต่างชาติ เข้าไปตั้งฐาน เป็นข้อน่ากังวลสำหรับประเทศไทย ที่ผู้ผลิตคอนเทนต์จะไหลออกไปได้

สรุปแล้ว ดิจิทัลแพลต์ฟอร์มไทย จะ “โกอินเตอร์” ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งตัวผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเอง และการกำกับและส่งเสริมที่ดีจากภาครัฐ

หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็คงไม่ถึงฝั่งฝัน.                 

จิราวัฒน์ จารุพันธ์

ภาพ : pixabay.com