เมื่อวันที่ 14 พ.ค. จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในส่วนที่กำกับดูแล กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และตำแหน่งรองประธานกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) โดยคำสั่งชั่วคราวนี้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้งวุฒิสภา ไม่ใช่การปลดออกจากตำแหน่งโดยสมบูรณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล วิเคราะห์ว่า กรณีนี้เป็นสัญญาณสะเทือนทางการเมือง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงหลายประเด็นเชิงโครงสร้างในระบบการเมืองไทย เช่น ความไม่ไว้วางใจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ข้อสงสัยต่อการใช้อำนาจรัฐ และภาพลักษณ์ขององค์กรอิสระในสายตาประชาชน

“ผลโพลชี้ว่า ประชาชนให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและการไม่แทรกแซงกลไกอิสระ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางที่เริ่มตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจรัฐ” ดร.นพดล กล่าว

ดร.นพดล ยังเสนอแนวทางเชิงนโยบายเพื่อรับมือวิกฤติความเชื่อมั่น ได้แก่ ทบทวนกลไกกำกับดูแล DSI เพื่อสร้างความเป็นอิสระในการสอบสวนคดีเกี่ยวข้องกับการเมือง กำหนดระเบียบชัดเจนในการจัดการ “คดีพิเศษ” เพื่อป้องกันการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างระบบสื่อสารที่โปร่งใส ระหว่างรัฐบาลและองค์กรอิสระ

ส่วนแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองที่อาจตามมา รัฐบาลอาจเผชิญแรงกดดันให้ปรับโครงสร้างกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายค้านและภาคประชาชนอาจตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐบาล อาจนำไปสู่การปฏิรูปบทบาทของ DSI ในระยะยาว

ดร.นพดล ย้งกล่าววา สำหรับข้อเสนอเชิงปฏิบัติต่อรัฐบาล สื่อสารเชิงรุกจากผู้มีอำนาจโดยตรง เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ เปิดเวทีเสวนาและ Q&A กับประชาชน และสื่อมวลชน จัดทำฐานข้อมูลเปิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้จริง

กรณีของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ไม่ใช่เพียงประเด็นส่วนบุคคล แต่คือ บททดสอบสำคัญของกลไกถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตยไทย รัฐบาลจำเป็นต้องสื่อสารอย่างเปิดเผย รับฟังเสียงประชาชน และใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองหลักนิติธรรม หากหวังรักษาความชอบธรรมและเสถียรภาพของประเทศในระยะยาว