องค์การการบินและอวกาศแห่งสหรัฐหรือ ‘นาซา’ เพิ่งเผยภาพถ่ายแสงออโรราหรือ ‘แสงเหนือ’ บนดาวอังคารซึ่งแตกต่างจากแสงเหนือที่มองเห็นบนโลก โดยเป็นภาพที่ได้จากยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์บนดาวอังคาร
ภาพแสงเหนือที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากพื้นผิวดาวอังคารนี้ยังนับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้เห็นแสงเหนือจากพื้นผิวดาวเคราะห์ดวงอื่นที่ไม่ใช่โลกด้วย
แสงสีเขียวอ่อนจางนี้ถูกยานสำรวจบนดาวอังคารถ่ายภาพไว้เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว แต่เพิ่งได้รับการเผยแพร่ประกอบผลงานศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อไม่นานมานี้
ขณะที่แสงเหนือบนโลกเกิดจากอนุภาคจากดวงอาทิตย์ทำปฏิกิริยากับสนามแม่เหล็กโลก แต่บนดาวอังคารไม่มีสนามแม่เหล็กโลกแบบทั่วทั้งดาว มีเพียงหย่อมสนามแม่เหล็กที่กระจายไปทั่วพื้นผิวดวงดาวโดยมีความเข้มต่างกัน แสงเหนือที่เกิดขึ้นบนดาวอังคารจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ต่างไปจากบนโลก

หนึ่งในประเภทแสงเหนือที่พบเห็นบนดาวอังคารเรียกว่า Solar Energetic Particle (SEP) Aurora เกิดจากอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์พุ่งชนชั้นบรรยากาศของดาวอังคารโดยตรง
เมื่อปีที่แล้ว เกิดปรากฏการณ์พายุสุริยะ (Solar flare) และมีการปลดปล่อยมวลโคโรนาหรือการปล่อยก้อนพลาสมาจากดวงอาทิตย์ออกมา (Coronal Mass Ejection : CME) และพุ่งตรงไปยังดาวอังคาร ทีมวิจัยจึงใช้โอกาสนี้เตรียมยานเพอร์เซเวียแรนซ์ที่กำลังสำรวจอยู่ในหลุมอุกกาบาตเจซีโรเพื่อสังเกตการณ์
ทีมวิจัยใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อคาดการณ์เวลาและตำแหน่งที่จะมองเห็นแสงเหนือบนท้องฟ้าดาวอังคาร รวมถึงสีและความเข้มของแสงที่ยานสำรวจน่าจะตรวจจับได้ พวกเขาคาดการณ์ว่าอนุภาคจากมวล CME จะทำปฏิกิริยากับอะตอมออกซิเจนในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ทำให้เกิดแสงเรืองสีเขียวอ่อนๆ
หลังจากเกิดพายุสุริยะได้หลายวัน เครื่องมือของยานเพอร์เซเวียแรนซ์ก็สามารถบันทึกแสงสีเขียวที่นักวิจัยคาดการณ์ไว้ได้อย่างแม่นยำ

อย่างไรก็ตาม แสงเหนือบนดาวอังคารนี้ไม่ได้มีความสวยงามตระการตาเท่ากับแสงเหนือที่พบเห็นบนโลก แสงเหนือบนดาวอังคารมีสีจางกว่าบนโลก เนื่องจากไม่มีสนามแม่เหล็กที่แข็งแกร่งห้อมล้อมทั้งดาว อนุภาคจากดวงอาทิตย์จึงทำปฏิกิริยาและสร้างแสงสีเขียวได้น้อยกว่าเมื่อชนเข้ากับชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร
ที่มา : abc.net.au
เครดิตภาพ : NASA/JPL-Caltech/ASU/MSSS/SSI, NASA/JPL-Caltech/Cornell Univ./Arizona State Univ/E. W. Knutsen