วันที่ 13 พ.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 38) โดยระบุใจความว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวตามที่นายกรัฐมนตรี เพื่อมุ่งฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ การกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการบริหารจัดการ ด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ภาพรวมของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และฝ่ายสาธารณสุขได้ประเมินแล้วเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องคงมาตรการที่เข้มงวดในบางเขตพื้นที่สถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรครุนแรงต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยมุ่งหมายให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมดำเนินไปควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศบค. ดังต่อไปนี้

การห้ามออกนอกเคหสถานสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 23.00น. ถึง 03.00น. ของวันรุ่งขึ้น โดยใช้บังคับต่อเนื่องไปสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ทุกจังหวัดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 วัน (จนถึงวันที่ 30 พ.ย. พ.ศ. 2564) และให้การกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และกรณีของบุคคลที่ได้รับยกเว้นที่ได้ประกาศหรือได้อนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ยังคงใช้บังคับต่อไป

การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ต.ค. พ.ศ.2564 ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต การปฏิบัติงานนอกสถานที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวและการเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพรโรคทั่วราชอาณาจักร รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้น ภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. พ.ศ.2564 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 12 พ.ย. พ.ศ.2564

ขณะเดียวกันเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ยังเผยแพร่ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 21/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยระบุใจความว่า สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูงตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้าย พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตาก นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา

พื้นที่ควบคุมสูงสุด 39 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี ขอนแก่น จันทบุรี ชลบุรี ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา ตรัง ตราด นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พัทลุง เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สระแก้ว สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี อ่างทอง อุดรธานี และอุบลราชธานี

ส่วนพื้นที่ควบคุม 23 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ บุรีรัมย์ พะเยา แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย สิงห์บุรี สุโขทัย สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 5 จังหวัด ประกอบด้วย นครพนม น่าน บึงกาฬ มุกดาหาร และสกลนคร

อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่..
ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 38)

คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 21/2564
////