เมื่อวันที่ 21 พ.ค.68 นายบุญจง  วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานนโยบายเน้นหนัก 5 ด้านของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี โดยมี น.ส.ภาดาท์  วรกานนท์ น.ส.อัชญา  จุลชาต คณะทำงานรมว.มหาดไทย และผู้แทนกรม รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมด้วย

โดยในช่วงเช้า นายบุญจง เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี จากนั้นตลอดทั้งวัน นายบุญจง และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ อ.ชะอำ อ.บ้านลาด และ อ.เมืองเพชรบุรี อาทิ กลุ่มสตรีศิลปาชีพ(พิเศษ)ป่านศรนารายณ์ สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเพชรบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลไร่โคก

นายบุญจง  เปิดเผยว่า ในวันนี้ คณะทำงานติดตามและประเมินผลฯ กำหนดลงพื้นที่จ.เพชรบุรี เพื่อติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย 5 ด้านเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน ตามที่นายอนุทิน ได้มอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอ ได้แก่ 1. การจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งได้เน้นย้ำว่าในทุกพื้นที่จังหวัดต้องไม่มีผู้มีอิทธิพลในทางไม่ถูกต้องเหนือกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และขณะเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการเพื่อให้เกิดความผาสุกในสังคม 2. การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งตนขอฝากให้จังหวัดเพชรบุรีได้ให้ความสำคัญกับกองกำลังภาคประชาชน ทั้งสมาชิก อส. และ ชรบ. ในการยกระดับให้เพชรบุรีเป็น “จังหวัดสีขาว” โดยจะต้องเริ่มต้นจาก “หมู่บ้านสีขาว” ที่ประชาชนในหมู่บ้านใช้ขบวนการตาสับปะรด ให้ลูกบ้านช่วยกันสอดส่องดูแลและตักเตือนห้ามปราบสมาชิกในหมู่บ้านไม่ให้ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด แต่หากเตือนแล้วยังคงไม่สนใจแล้วไปข้องเกี่ยว ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดจำนวนผู้เสพให้ลดน้อยลง 3. การส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ เป็นเรื่องที่อยู่ในหัวใจของคนมหาดไทย เพราะเราต่างมุ่งทำให้เกิดการพัฒนาทักษะฝีมือของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลไปยังข้อที่ 4.คือทุกพื้นที่มีเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง

นายบุญจง  กล่าวต่อว่า 5.“น้ำดื่มสะอาด” ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และพยายามหาแนวทางเพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้มีน้ำสะอาดบริโภคที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม ซึ่งนี้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ทั้ง 235 แห่ง ได้ขับเคลื่อนโครงการ Mini Station ตั้งเป้าแล้วเสร็จครบทุกแห่งในปี 2570 ทั้งนี้ ความสำคัญของโครงการน้ำดื่มสะอาด จะเกิดผลประโยชน์อย่างยิ่งกับพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือที่อาศัยในพื้นที่ถิ่นห่างไกล เพราะการมีน้ำดื่มสะอาดบริการประชาชนจะสามารถช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ไม่น้อยกว่า 30,000-40,000 บาทต่อปี และสามารถนำเงินส่วนนี้ไปจุนเจือดูแลครอบครัวในมิติอื่น ๆ ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยได้เน้นย้ำให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวให้กับทุกจังหวัด “ด้วยการจัดทำแบบมาตรฐานระบบประปาหมู่บ้าน” เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อันจะทำให้ประชาชนในหมู่บ้านสามารถลดรายจ่ายจากการต้องซื้อน้ำดื่มเพื่อการบริโภคจำนวนมาก

นายบุญจง กล่าวว่า การลงพื้นที่ของคณะทำงานติดตามและประเมินผล ไม่ได้เป็นการลงมาตรวจสอบหรือจับผิดการทำงานของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจในพื้นที่ แต่เป็นการมาหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานให้บังเกิดผลที่ “เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด” พร้อมทั้งมาสนับสนุน มารับฟัง และผลักดันให้ความต้องการของพื้นที่ ซึ่งข้าราชการและผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ต่างร่วมกันทำงานรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนมาแจ้งกับคณะทำงาน เพื่อให้ความคาดหวังความต้องการเหล่านั้นเป็นจริงตามขั้นตอนระเบียบกฎหมาย.