กลายเป็น “ระเบิดเวลาทางการเมือง” อีกลูก กับความเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามคำร้องของ ณฐพร โตประยูร ว่าการกระทำของ อานนท์ นำภา, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการจัดการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  พร้อมสั่งการให้ “3แกนนำกลุ่มราษฎร” รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย  

ด้วยพฤติกรรมที่ว่า ข้อเรียกร้องที่ให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติรับรองพระราชฐานะขององค์พระมหากษัตริย์ ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาละเมิดไม่ได้ จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง เซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่าย กระทำการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง บางเหตุการณ์ “3แกนนำกลุ่มราษฎร” มีส่วนจุดประกายในการอภิปรายปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง การกระทำดังกล่าวจึงนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในที่สุด

นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าการชุมนุมหลายครั้งมีการทำลาย และการถอดสีน้ำเงินออกจาธงไตรรงค์ รวมทั้งข้อเรียกร้อง 10 ข้อนั้น แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของ “3แกนนำกลุ่มราษฎร” ว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพโดยมีเจตนาซ่อนเร้น เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป

แต่หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย “รุ้ง”  ก็ได้ประกาศชัดว่าจะไม่เคารพในคำวินิจฉัยของศาล และเห็นว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อาจยอมรับได้ ทั้งนี้หากจับ “อาฟเตอร์ช็อก” ความร้อนแรงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว ก็มีแนวโน้มที่กลุ่มเยาวรุ่น ซึ่งเป็นมวลชนของกลุ่มราษฎร น่าจะมีแผนเดินเกมครั้งสำคัญ ในการปลุกระดม เติมฟืนเข้ากองไฟที่คุกรุ่นอยู่แล้ว ให้โหมกระหน่ำทวีความร้อนแรงมากขึ้นไปอีก เพื่อเดินเกมต่อสู้ภายใต้ข้อเรียกร้องในการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ทางกลุ่มราษฎร ชูอุดมการณ์มาโดยตลอด

ขณะที่นักการเมือง นักวิชาการ ต่างก็มีความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในหลายทิศทาง ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มองว่าการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ควรเกิดขึ้นอีก และควรมีการไล่เอาผิดคนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองที่ผ่านมา หรือฝ่ายที่ตั้งคำถาม ตลอดจนมีการตีความในมุมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญมองว่าการปฏิรูปคือการล้ม ล้างสถาบัน

หรือแม้แต่ “โทนี่ วู้ดซัม” ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังมีการกลับลำเรื่องแก้ไขมาตรา 112 หลังจากรู้ว่าเสียรังวัตทางการเมืองในหมู่คนรุ่นใหม่หลังจากการออกตัวค้านแก้มาตรา 112 ในครั้งก่อน จนต้องกลับลำเพื่อหวังจะฉวยคะแนนโหวตเตอร์ของเยาวรุ่น โดยอ้างว่า “พูดสั้นไป” จากที่เคยบอกว่า ตัวกฎหมาย มาตรา 112 ไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาเกิดจากรัฐบาลที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด  กลายเป็นว่า เสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ในเรื่องโทษจำคุก 15 ปี ถือว่าหนักเกินไปและแก้กระบวนการแจ้งความร้องทุกข์ ที่เปิดช่องให้ทุกคนสามารถกล่าวโทษได้

แต่ด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลผูกพันทุกองค์กร อาจส่งผลให้เกิดการดำเนินคดีกับแกนนำ หรือผู้ที่เชื่อมโยงกับการชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยอาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นการเติมความโกรธเกรี้ยวให้ “การเมืองนอกสภา” ร้อนแรงมากยิ่งขึ้นรวมทั้งอาจเกิดปัญหาการตีความคำวินิจฉัยทั้งการตีความว่ากลุ่มหรือองค์กรใด เป็นองค์กรเครือข่ายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุ หรือการตีความว่าการกระทำใดที่เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองที่ถูกสั่งให้เลิกการกระทำในอนาคต ซึ่งจุดเสี่ยงเหล่านี้เป็นการเพิ่มโอกาสเกิดการเผชิญหน้า กระทบกระทั่ง ใช้กำลังปะทะ จนเลยเถิดกลายเป็นการใช้ความรุนแรงเข้าใส่กันของฝ่ายผู้ชุมนุม-เจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ก็คงจะต้องรอดูว่า “อาฟเตอร์ช็อก” จากคำวินิจฉัยดังกล่าว จะกลายมาเป็นเชื้อไฟทางการเมืองที่ร้อนแรงมากแค่ไหน แต่ที่เห็นได้ชัดคือสโลแกนที่ว่า “รักสงบจบที่ลุงตู่” คงจะนำมาใช้กับสถานการณ์บ้านเมืองหลังจากนี้ได้ยาก!

นอกจาก “การเมืองนอกสภา” ที่ส่อแววร้อนระอุแล้ว เรื่องดังกล่าวยังส่งผลกระทบลุกลามไปถึง “การเมืองในสภา” ด้วยเช่นกัน เพราะอาจจะนำไปสู่การยื่นยุบพรรคการเมือง ที่ถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรในช่วงที่ผ่านมา หรืออาจถูกเหมารวมว่าเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะ “พรรคก้าวไกล” ที่ถูกล็อคเป้าจาก ณฐพร โตประยูร เป็นที่เรียบร้อย เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นคำร้องเอาผิดและยุบพรรคก้าวไกลต่อ กกต.ไว้แล้ว จากการณีให้การสนับสนุนทางการเงิน และการประกันตัวผู้ต้องหา รวมถึงอ้างว่ามีการไปร่วมชุมนุม นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวอาจจะลามไปถึง พรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้แกนนำม็อบราษฎรออกมาอ้างว่ามีพฤติกรรมสนับสนุนการชุมนุม

หากเรื่องที่เกิดขึ้นพิสูจน์ชัดจนนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองที่สุ่มเสี่ยง ก็คงจะเป็นเรื่องที่เข้าทางกลุ่มผู้มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบัน ที่กำลังต้องการไปต่อในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า โดยเฉพาะในส่วนของ พรรคพลังประชารัฐ  ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กุมบังเหียนในฐานะหัวหน้าพรรค โดยมี “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นแคนดิเดตในบัญชีนายกฯของพรรค

ดังนั้นหากท้ายที่สุดแล้วจับพลัดจับผลูจนมีการยุบพรรค โอกาสที่ “บิ๊กตู่-พรรคพลังประชารัฐ” จะได้ไปต่อก็มีค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

แต่ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงที่แผนไปต่อจะพังไม่เป็นท่าก็ยังมีความเป็นไปได้ เพราะบริบททางการเมืองในเวลานี้ “รัฐบาลเรือเหล็ก” กำลังอยู่ในสภาพ “อยู่ยาก” เนื่องจากต้องประสบกับปัญหาหลายด้านไล่ตั้งแต่ปัญหาการคุมเสียงในสภาของพรรครัฐบาล จากวินัย ส.ส. ที่หย่อนยาน จนสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์สภาล่มกันแบบรายสัปดาห์ ขณะที่ “บิ๊กตู่”เองถึงกับต้องออกมาเปิดใจ ขอความร่วมมือจากฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล อย่าใช้เกมสภาไม่ผ่านกฎหมายสำคัญ เพื่อล้มรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องใจร้ายกับประเทศเกินไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า “บิ๊กตู่”เอง ก็ยังไม่มั่นใจกับการคุมเสียงในสภาของพรรครัฐบาลเอง

ทั้งนี้แม้จะมีการนัดดินเนอร์ สังสรรค์ กระชับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล ในช่วงปลายเดือนนี้ แต่หากยังไม่มีมาตราการปรับวินัยของ ส.ส. ไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องการเล่นเกมการเมืองในสภา สุดท้ายแล้วรัฐบาลอาจจะสะดุดขาตัวเองล้มหัวคะมำ ก่อนถึงวาระที่จะอยู่ยาวตามที่หวังไว้

ความเสี่ยงอีกอย่างคือ การทำงานที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้พิสูจน์ได้ชัดแล้วว่า ไร้ฝีมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะถึงแม้จะเริ่มมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยตั้งความหวังที่จะเติมเม็ดเงินช่วยกู้วิกฤติด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่หากย้อนมองชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในปัจจุบัน กลับตกอยู่ในสภาวะ “อยู่ยาก” มากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะต้องแบกรับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ต้องเจอกับสภาวะข้าวยากหมากแพง ราคาน้ำมันหฤโหด สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นพากันถีบราคาสูงขึ้น หลายพื้นที่ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาน้ำท่วม ขณะที่ชาวนาต้องเผชิญกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำอย่างหนัก

แม้งานนี้รัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเหลือปัญหาด้านต่างๆ แต่กลับยังไม่เป็นผลสำเร็จ ซ้ำร้ายบางเรื่องกลายเป็นการกอ่ปัญหาใหม่ โดยเฉพาะการช่วยเหลือชาวนาด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ผ่านโครงการประกันราคาข้าวเพื่อเติมช่องว่างราคาให้กับเกษตรกร แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้เกิดผลกระทบกับนโยบายการเงินการคลัง กระทบกับเงินในกระเป๋าของรัฐบาล จนทำเอา สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ถึงกลับต้องออกมาทักท้วงว่า การจ่ายเงินประกันราคาให้เกษตรกร จะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ ระบบการเกษตรไม่ได้รับการพัฒนา เมื่อช่วยเหลือแบบนี้เมื่อไรจะจบ

ซึ่งก็ทำเอาคนพรรคประชาธิปัตย์พากันออกมาประสานเสียงตอบโต้ รมช.คลังคนดังกล่าว ด้วยเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายหาเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์ และถูกวางเป็นนโยบายที่จะนำมาต่อยอดในการใช้หาเสียงเลือกตั้งในครั้งต่อไปด้วย ดังนั้นการที่รัฐมนตรีต่างพรรคออกมาเตะตัดขาแบบนี้อาจจะทำให้สุ่มเสี่ยงกลายเป็นการกะเทาะรอยร้าวพรรคร่วมรัฐบาลให้ปริแตกมากยิ่งขึ้น

ท่ามกลางความร้อนแรงของ “อาฟเตอร์ช็อกการเมือง” ที่ส่งผลให้การเมืองนอกสภา-การเมืองในสภา คุกรุ่นขึ้นทุกขณะ การเดินบนเส้นทางอำนาจของรัฐบาลหลังจากนี้ คงไม่ต่างกับการเดินลุยไฟ!