เมื่อวันที่ 23 พ.ค. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กภายหลัง ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนการระบายข้าว (จีทูจี) 10,028 ล้านบาท ว่า ในประเทศของเรานี้ เฉพาะนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง และทางกฎหมาย ทั้งคดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีรัฐธรรมนูญ  ส่วนนายกฯ ที่มาจากการก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง และทางกฎหมายใดๆ เลย เพราะใช้อำนาจนิรโทษกรรมตนเอง และเขียนรัฐธรรมนูญแบบ มาตรา 44 คุ้มครองการกระทำของตนเองไว้หมด

ต่อมานายปิยบุตร โพสต์ข้อความอีกว่า ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดี “จำนำข้าว” โดยระบุว่าผมขอแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด  หากศาลพิจารณาโดยใช้เทคนิควิธี “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ชนิดที่ว่า โยงกันตั้งแต่รัฐเสียหาย เสียหายจากการทุจริต การทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G การระบายข้าวแบบ G to G อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีพาณิชย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ  นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ สตง. และ ป.ป.ช. ท้วงแล้ว สื่อลงข่าวแล้ว สส.ฝ่ายค้านอภิปรายแล้ว ยังไม่หยุด เป็นประธาน กขช. แต่กลับไม่เข้าประชุม เท่ากับ นายกรัฐมนตรีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริต

นายปิยบุตร ระบุต่อว่า  เช่นนี้แล้วล่ะก็ ต่อไป นายกรัฐมนตรีประเทศนี้จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้เลย ไม่สามารถนำนโยบายที่รณรงค์หาเสียงมาปฏิบัติได้เลย เพราะหากมีใครไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ทักท้วงขึ้นมา นายกรัฐมนตรีก็ต้องหยุดทันที และหากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อยากต้องรับผิด ถูกดำเนินคดี วิธีการปลอดภัยที่สุด คือ ไม่คิด ไม่เสนอสิ่งใหม่ ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้ระบบราชการทำกันไปตามแต่ละวัน นายกรัฐมนตรีก็จะแปลงสภาพกลายเป็น “ปลัดประเทศ” ไปในที่สุด

นายปิยบุตร ระบุต่อว่า ต้องไม่ลืมว่า นโยบายดีหรือไม่ดี คุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า ย่อมมีคนเห็นแตกต่างกัน นโยบายหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ คนอีกกลุ่มหนึ่งเสียประโยชน์ นโยบายหนึ่ง สอดคล้องกับวิธีคิดทางสำนักเศรษฐศาสตร์ของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่สอดคล้องกับวิธีคิดทางสำนักเศรษฐศาสตร์ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง การประเมินว่าการดำเนินนโยบายนี้ สร้างความเสียหายให้กับรัฐ หรือเสี่ยงต่อการทุจริต ก็มีคนมองได้ต่างกัน ดังนั้น ต้องปล่อยให้ตัดสินใจกันในทางการเมือง รับผิดชอบกันในทางการเมือง ไม่สมควรให้นักวิชาการบางกลุ่มหรือองค์กรอิสระมาเป็นดัชนีชี้วัดว่านโยบายไหนทำได้หรือทำไม่ได้ มิเช่นนั้นแล้ว ต่อไป เพียงแค่องค์กรอิสระหรือนักวิชาการทำหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยและสันนิษฐานว่าอาจเกิดทุจริตได้หรือมี สส.ฝ่ายค้านอภิปรายแล้ว ก็เท่ากับว่า รัฐบาลต้องยุติการดำเนินนโยบายทันที สรุปแล้ว ใครเป็นรัฐบาลกันแน่?

นายปิยบุตร ระบุว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ผมมีความเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น (ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้คุณยิ่งลักษณ์ชดใช้ 30,000 กว่าล้านบาท) และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังบางส่วน และคุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้อีกประมาณ 10,028 ล้านบาท)  ผมเห็นว่า กรณีนี้ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะความเสียหายจากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเกิดจากระดับปฏิบัติในชั้นเจ้าหน้าที่ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ละเว้นการกระทำ แต่ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบติดตามแล้ว นายกรัฐมนตรีไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปล่อยให้มีการทุจริต และความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ห่างไกลและไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของนายกรัฐมนตรี การนำความเสียหายจากการทุจริตการระบายข้าวแบบ G to G มาใช้เป็นฐานในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เป็นมูลฐานในการออกคำสั่งของกระทรวงการคลังมาใช้พิจารณา

นายปิยบุตร ระบุต่อว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง สัมพันธ์กับการเมือง เป็นคำพิพากษาที่กลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น และมีความเห็นแย้งของตุลาการเสียงข้างน้อยในหลายประเด็น ผมจึงมีความเห็นว่า เพื่อความโปร่งใสและประโยชน์ทางวิชาการ เพื่อให้สาธารณชนได้ตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลปกครองผ่านการพิจารณาการให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาได้ ศาลปกครองสูงสุดควรเปิดเผยข้อมูล ดังต่อไปนี้

1. การพิจารณาในองค์คณะ ต้องวินิจฉัยและลงมติในประเด็นใดบ้าง  2. ตุลาการในองค์คณะ ลงมติในแต่ละประเด็นด้วยเสียงเท่าไร ใครเป็นเสียงข้างมาก ใครเป็นเสียงข้างน้อย  3. มีประเด็นใดบ้างที่ให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด 4. องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดที่ชี้ขาดในแต่ละประเด็น มีจำนวนเท่าไร ในแต่ละประเด็นมีการลงมติด้วยคะแนนเสียงเท่าไร ใครเป็นเสียงข้างมาก ใครเป็นเสียงข้างน้อย

นายปิยบุตร ระบุว่า ตั้งแต่ผมยังปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับผิดชอบบรรยายกฎหมายปกครองและความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อเนื่องทุกปี ผมยืนยันมาโดยตลอดว่า กรณีความเสียหายจากการทุจริตโครงการจำนำข้าว ไม่สามารถนำกฎหมายความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ มาบังคับใช้ สั่งให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ผมได้แสดงความเห็นมาโดยตลอด ทั้งผ่านทางข้อเขียน เฟซบุ๊ก และแสดงความเห็นในที่สาธารณะ

นายปิยบุตร ระบุต่อว่า จนกระทั่ง ผมได้ลาออกจากอาจารย์ประจำ มาตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้เป็น สส. จนถูกยุบพรรคและถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี หากมีโอกาส ก็แสดงความเห็นเช่นนี้มาเสมอ จนมาถึงวันนี้ วันที่ผมไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองใดๆ และมีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ในประเด็นสำคัญหลายเรื่อง แต่ผมก็ยังคงยืนยันความเห็นทางกฎหมายในกรณีนี้แบบเดิม  จึงขอยืนยันใช้เสรีภาพในทางความคิดและทางวิชาการ แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด.