เมื่อวันที่ 23 พ.ค. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีรายงานว่า รัฐบาลจะนำเงิน 1 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องจ่ายหนี้คืนให้กับสำนักงานประกันสังคม ออกไปเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า เงินส่วนดังกล่าวเป็นเงินของรัฐบาล ไม่ใช่เงินของสำนักงานประกันสังคม แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้มีข้อยุติใดๆ
ด้าน นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า วาระใหญ่ที่สำคัญก็คือเป็นมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวพันกับกองทุนประกันสังคม จากมติที่ประชุมเราทำความเข้าใจเพื่อรับทราบว่าเงินก้อน 10,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลให้นี้ เป็น 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้หนี้ประกันสังคมในส่วนติดค้างอยู่ประมาณ 50,000 กว่าล้านบาท และเราก็ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการใช้เงินสมทบรายปีที่รัฐต้องให้ประกันสังคมอยู่แล้ว ปีละกว่า 4 หมื่นกว่าล้านบาท เป็นเงินในส่วนของการใช้หนี้ โดยจะนำมาใช้อุดหนุนโครงการของประกันสังคม นั่นคือเป็นสินเชื่อในเรื่องการรักษางาน
“ซึ่งเรายืนยันและมีมติสำคัญในที่ประชุมว่า เราพยายามผลักดันว่า ในหน่วยงานอื่นรัฐบาลให้เงิน แต่ประกันสังคมรัฐบาลให้ผ่านการใช้หนี้ มันคนละเงื่อนไขกัน เพราะฉะนั้นเราจะพยายามสื่อสารไปจากกรมบัญชีกลาง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องว่าหากจะให้สำนักงานประกันสังคมเข้าร่วม จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมียอดอัตราการใช้หนี้ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย” นายษัษฐรัมย์ กล่าว
นายษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เรื่องสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่สำนักงานประกันสังคมได้มีโครงการที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อรักษางานของผู้ประกันตนไว้ แต่ก็มีข้อสังเกตว่าให้กับนายจ้างเป็นหลัก แต่ส่วนที่เกี่ยวพันกับผู้ประกันตนเราพยายามเสนอให้มีสินเชื่อที่สามารถส่งตรงสู่ผู้ประกันตนได้ เช่นธุรกิจสตาร์ทอัพและการเพิ่มทักษะต่างๆ ในช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงต่อการเสียงาน เสียรายได้ โดยเฉพาะแรงงานอิสระมาตรา 40 ดังนั้นย้ำว่า กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้าไม่ได้คัดค้านทุกนโยบายของรัฐบาลและสำนักงานประกันสังคม เราพยายามผลักดันร่วมกัน แต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า วาระหลายอย่างที่เป็นเรื่องสำคัญของผู้ประกันตนไม่มีความคืบหน้า แต่กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีการดำเนินงานที่รวดเร็ว มีการประชุมวาระพิเศษเพิ่มเข้ามา จึงพยายามทำให้มีการเสนอวาระต่างๆ ให้มีธรรมาภิบาลและรอบคอบ
“ถ้ารัฐวางแผนคืนเงินให้ประกันสังคม สามารถวางแผนจัดการสิทธิประโยชน์ได้ดีขึ้น อย่างเงินหมื่นล้านบาท เป็นสิ่งที่รัฐต้องคืนอยู่แล้ว อย่างที่ตั้งสังเกตว่า หน่วยงานอื่นได้รับเงินให้เปล่า แต่ประกันสังคมได้รับเป็นการคืนหนี้ พ่วงกับโปรเจกต์ต่างๆ เหมือนเพื่อนยืมเงินเราไปแล้วบอกว่าจะคืนเงินให้ แต่ช่วยฉันทำบุญด้วย นี่เป็นสิ่งที่เราตั้งคำถาม แต่เราไม่ได้ปฏิเสธว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการรักษางานเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลานี้ แต่เราอยากมองถึงภาพใหญ่ที่รัฐต้องคืนอีก เพื่อเราจะได้รักษาสิทธิประโยชน์อีก” นายษัษฐรัมย์ กล่าว
นายษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่า การคืนไม่ควรเป็นรูปแบบกระตึ้นเศรษฐกิจแบบนี้อีก เพราะเงินมาต้องออกแบบสิทธิประโยชน์อีก เพราะที่เข้ามา 80% เอามาทำเรื่องสิทธิปรโยชน์ ที่เหลือเอมาใช้ลงทุนเพื่อดอกผล การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจเฉพาะมีเพียง 3.5% เท่านั้น หน้าที่หลักของประกันสังคมไม่ใช่การกระตุ้นเศรฐษกิจ แต่มีหน้าที่สำคัญในการวางเงื่อนไขออกแบบสิทธิประโยชน์ เราจึงไม่อยากให้กองทุนประกันสังคมมีเงื่อนไขที่สับสนภายใต้เงื่อนไขตัวนี้ ทั้งนี้สัปดาห์หน้า จะมีการประชุมอนุกรรมการมาตรา 40 จะเสนอมาตรการสินเชื่อสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่เป็นแรงงานอิสระที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ก็จะใช้มาตรการนี้เป็นเงื่อนไขในการที่เราจะยกระดับการเข้าถึงสินเชื่อของแรงงานด้วย
เมื่อถามว่า การคืนเงินของรัฐบาลควรเป็นแบบไหน นายษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เรื่องใหญ่คือ แสดงว่ารัฐบาลมีเงิน แต่อย่างที่คนเห็นว่า ประกันสังคมก็เหมือนกรมหนึ่งของกระทรวงแรงงาน มีคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเลขาธิการประกันสังคม ทั้งปลัดกระทรวงแรงงาน รมว.แรงงาน รวมถึงนายกรัฐมนตรี มติ ครม. จึงเป็นการยากที่ประกันสังคมจะไปทวงเงินจากรัฐบาล ก็จะออกมาเป็นเงื่อนไขแบบนี้ ซึ่งเรามองว่าก็เป็นปัญหา แต่เมื่อมองอย่างเป็นรูปธรรม การคืนเงิน 4 หมื่นล้านบาทที่เหลือ ก็ไม่ใช่เป็นเงินที่เยอะสำหรับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลจะวางเงื่อนไขแบบนี้แล้วคืนเงิน ก็ให้ประกันสังคมเป็นคนออกแบบก็ได้.