เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ กรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม และอดีตประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รมว.แรงงานแต่งตั้งคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมชุดใหม่ จำนวน 16 คน ซึ่งถูกสังคมจับตามองว่าคณะกรรมการชุดนี้จะขับเคลื่อนสิทธิประโยชน์การแพทย์ให้แก่ผู้ประกันตนเทียบเท่าบัตรทองได้มากน้อยแค่ไหน ว่า ตนยังไม่สามารถพูดในฐานะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ เนื่องจากเพิ่งได้รับการแต่งตั้ง จึงต้องมีการประชุมก่อน แต่ส่วนตัวคิดว่าเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ต้องแยกให้ชัดว่าสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นกับสิทธิประโยชน์ที่ยังไม่จำเป็น เราควรจะใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้อย่างไร และคณะกรรมการฯ มีหน้าที่พิจารณา ไม่ควรที่จะเอาเงินไปใช้ในสิ่งที่ยังไม่มีความจำเป็นมาก
นพ.อนุกูล กล่าวอีกว่า การที่ประชาชนอยากได้สิทธิประโยชน์โมเดลขนมชั้น ตนเห็นว่าโมเดลขนมชั้นเป็นการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน ทุกสิทธิควรจะได้รับเท่ากัน และทุกคนคงเห็นด้วย ส่วนแต่ละกองทุนจะเพิ่มเติมอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของแต่ละกองทุน
นพ.อนุกูล กล่าวว่า ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ทันตกรรมมีประเด็นอยู่พอสมควร ไม่ใช่แค่ประกันสังคม แต่ยังรวมถึงบัตรทองด้วย มาจากข้อที่ไม่ได้ระวังของบัตรทอง เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งเดิมการทำฟันเป็นการประกาศว่ารายการไหนบ้างที่รวมกว่า 9 รายการ ทั้งอุด ขูด ถอน แต่นอกเหนือจากนี้ คือสิทธิที่ไม่ได้คุ้มครอง แต่เมื่อประมาณปี 2563-2564 มีการประกาศอย่างรวดเร็ว คือทุกสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับทันตกรรมได้รับหมดเลย ยกเว้นด้านสวยงาม และที่ยังอยู่ในการวิจัย แปลว่าทุกอย่างรวมอยู่ในสิทธิประโยชน์หมด โดยไม่ได้คำนวณถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้น เพราะการคำนวณต้นทุนก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการพูดถึง พูดแต่ของเดิม ดังนั้น การประกาศโดยที่ไม่คิดถึงที่มาของเงินงบประมาณ คิดว่าเป็นการก้าวที่พลาดของบัตรทอง บัตรทองก็คงจะต้องไปปรับตรงนี้ก่อน และถ้าประกันสังคมจะกระโดดเข้าไปด้วยหรือไม่ อย่างไร เราก็ต้องมาคำนึงความจำเป็น และงบประมาณด้วยเช่นกัน
ด้าน ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย กรรมการเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ และหนึ่งในกรรมการการแพทย์ สปส. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประชุมนัดแรก แต่ถ้าถามว่าตั้งใจจะเข้าไปทำอะไร แน่นอนว่าตั้งใจให้ผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกันตน อย่างไรก็ตาม ตอบเชิงหลักการก็ง่าย แต่เราต้องลงไปในรายละเอียดว่าสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมคืออะไร ตนคิดว่าคงไม่ใช่การลดสิทธิประโยชน์ แนวโน้มต้องทำให้สิทธิประโยชน์ดีขึ้น แต่ดีขึ้นด้วยอะไร กลไกอะไร เป็นเรื่องที่ต้องลงรายละเอียด ยกตัวอย่างเรื่องทันตกรรม ความจริงตนเข้าใจว่าสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม ไม่ได้ด้อยกว่า 30 บาท เพียงแต่ต้องยอมรับว่าบางอย่าง เป็นนโยบายของหน่วยบริการด้วย
“หน่วยบริการจะรับค่าชดเชยหรือเหมาจ่ายมาจากประกันสังคม ภายใต้ข้อตกลงว่าต้องรับผิดชอบผู้ประกันตนอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมารับบริการ หน่วยบริการก็ต้องพิจารณาตามความจำเป็นว่าต้องให้บริการอะไร อย่างไรบ้าง ซึ่งทันตกรรมอยู่ในนั้นด้วย แต่สิ่งที่สำนักงานประกันสังคมทำ คือ ถ้าไปทำอย่างอื่น ก็ยังจ่ายให้ได้ ไม่ได้หมายความว่าทำฟันอย่างอื่น นอกเหนือสิ่งที่ประกันสังคมรับผิดชอบ จะไม่จ่ายเลย ซึ่งไม่ใช่ ยังมีเรื่องความจำเป็นอยู่ จึงจำเป็นต้องมาคุยกันเรื่องนี้ให้เข้าใจ”ผศ.นพ.สนั่น กล่าว.