สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ว่า คำสั่งของทรัมป์ มุ่งเป้าไปที่การเร่งสร้างเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็ก สำหรับบริษัทเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีความต้องการพลังงานมหาศาล รวมถึงเร่งการขุดและเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในประเทศ เนื่องจากสหรัฐต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงสำคัญส่วนใหญ่
คำสั่งดังกล่าว จะยกเครื่องหน่วยงานกำกับดูแลนิวเคลียร์ของสหรัฐ เพื่อเร่งการตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ ภายใน 18 เดือน ท่ามกลางรายงานที่ว่า มีความเสี่ยงมากเกินไป แม้ทรัมป์ปฏิเสธว่า การเร่งกระบวนการกำกับดูแล จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของนิวเคลียร์ โดยได้ย้ำว่า จะดำเนินการให้เร็วและปลอดภัยที่สุด
.@POTUS signs an Executive Order to expedite and promote the production and operation of nuclear energy, which is necessary to power the next generation technologies that secure our global industrial, digital, and economic dominance, achieve energy independence, and protect our… pic.twitter.com/FbdJdBYhHX
— Rapid Response 47 (@RapidResponse47) May 23, 2025
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวกล่าวว่า ฝ่ายบริหารหวังที่จะทดสอบและติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ ก่อนสิ้นสุดวาระที่สองของทรัมป์ ในเดือน ม.ค. 2572 ขณะที่คำสั่งของทรัมป์ จะปฏิรูป “คณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์” ในระดับพื้นฐาน ซึ่งจะให้การอนุญาตแก่เครื่องปฏิกรณ์ใหม่ โดยลดภาระด้านกฎระเบียบ และลดระยะเวลาการออกใบอนุญาต
ความต้องการพลังงานในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ มาจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อาทิ แอมะซอน ไมโครซอฟท์ และกูเกิล ที่เพิ่งลงนามในข้อตกลงด้านพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ ต้องการแหล่งพลังงานปลอดคาร์บอน
ความพยายามด้านการส่งเสริมการขุดเจาะ และเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ในยุครัฐบาลวอชิงตันสมัยที่สองของทรัมป์ เห็นได้ชัดจากการนำเข้ายูเรเนียมจำนวนมากสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ก่อนหน้านี้ในปี 2566 การนำเข้ายูเรเนียมส่วนใหญ่มาจากแคนาดา ออสเตรเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2567 สหรัฐห้ามการนำเข้ายูเรเนียมจากรัสเซีย.
เครดิตภาพ : AFP