สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ว่า น้ำเป็นปัญหาสำคัญในอิรัก ซึ่งประสบกับวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภัยแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง
กระนั้น ทางการอิรักยังกล่าวโทษเขื่อนที่สร้างบริเวณต้นน้ำ ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่านและตุรกี ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ที่ไหลต่อมายังอิรัก ลดลงอย่างมาก
นายคาลิด ชามาล โฆษกกระทรวงทรัพยากรน้ำของอิรัก กล่าวว่า ฤดูร้อนปีนี้อิรักควรมีปริมาณน้ำอย่างน้อย 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ประเทศกลับมีปริมาณน้ำแค่ประมาณ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
“เมื่อปีที่แล้ว แหล่งน้ำสำรองทางยุทธศาสตร์ของเรา มีน้ำสองเท่าของปริมาณในปัจจุบัน ซึ่งเราไม่เคยเห็นปริมาณน้ำสำรองที่ต่ำขนาดนี้มานาน 80 ปีแล้ว” ชามาล กล่าวเพิ่มเติม พร้อมกับเสริมว่า สาเหตุหลักมาจากปริมาณน้ำที่ลดลงในแม่น้ำทั้งสองสาย
อนึ่ง ชามาลระบุว่า อิรักในตอนนี้ได้รับส่วนแบ่งน้ำจากแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส น้อยกว่า 40% อีกทั้งปริมาณน้ำฝนเล็กน้อยในฤดูหนาวปีนี้ และระดับน้ำที่ต่ำจากหิมะที่ละลาย ยิ่งทำให้สถานการณ์ในอิรักเลวร้ายลง ซึ่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถือว่าอิรักเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อผลกระทบบางส่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากในอิรักต้องทิ้งที่ดินของตนเอง และทางการอิรักก็ปรับลดกิจกรรมทางการเกษตรลงอย่างมาก เพื่อทำให้แน่ใจว่า ประเทศมีน้ำดื่มเพียงพอสำหรับประชาชน.
เครดิตภาพ : AFP