เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค วันที่ 27 พ.ค. พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีผู้ป่วยสะสม 204,965 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ 6,119 ราย เสียชีวิตสะสม 51 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากสุดคือ กทม. 798 ราย ระยอง 449 ราย ไม่ระบุ 438 ราย นนทบุรี 312 ราย และสมุทรปราการ 281 ราย ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่สะสม 343,270 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 667 ราย เสียชีวิตสะสม 33 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากสุดคือ ชลบุรี กทม. สมุทรปราการ ระยอง
วันเดียวกันนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า เป็นอย่างที่คาดการณ์ทุกปีโรคโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนเม.ย. จะระบาดสูงสุดหลังนักเรียนเปิดเทอม และจะไปเริ่มลดลงปลายเดือน มิ.ย.เข้าสู่เดือน ก.ค. ยอดผู้ป่วยในปีนี้น่าจะสูงกว่าปีที่แล้วมาก จากข้อมูลรายงานเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นจำนวนผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล ไม่ใช่ยอดที่แท้จริง ตัวเลขจริงต่างกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มาก ทั้งที่ยอดผู้ป่วยโควิด-19 น่าจะมากกว่าไข้หวัดใหญ่อย่างมากเลยตอนนี้
อย่างไรก็ตามโควิด-19 ได้เปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาลแล้ว ทำให้ความรุนแรงของโรคลดน้อยลงอย่างมาก ดังจะเห็นยอดการเสียชีวิต ปีนี้ลดน้อยลงกว่าปีที่แล้วมาก ปีที่แล้วเสียชีวิต 220 คน ปีนี้น่าจะต่ำกว่าร้อยคน ถึงแม้ว่าจะมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากกว่าปีที่แล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน หรือบางคนไม่ได้ตรวจ การแพร่กระจายของโรคติดต่อได้ง่ายขึ้น การเฝ้าระวังป้องกันตนเองลดน้อยลง จึงทำให้มีการแพร่กระจายอย่างมากและรวดเร็ว
หลังจากนี้เมื่อเปิดเรียนแล้ว 2-3 อาทิตย์ สิ่งที่ตามมาก็คือไข้หวัดใหญ่ จะระบาดตามมาพร้อมกับ ไข้หวัดธรรมดาหรือที่เรียกว่าไรโนไวรัส (rhinovirus) ตามมาซ้ำเติมอีก จนกระทั่งถึงเดือน ก.ค. อาร์เอสวี (RSV) จะมาหลังสุด โดยอาร์เอสวี จะมีช่วงระบาดเพียง 5 เดือนเท่านั้นตั้งแต่เดือน ก.ค. ถึงเดือน พ.ย.ก็จะครบวงรอบ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญพวกเราทุกคนต้องช่วยกัน ถึงแม้ความรุนแรงของโรคจะลดลงจากการที่เรามีภูมิต้านทานต่อโควิด-19 ทั้งการติดเชื้อมาแล้ว และเคยได้รับวัคซีนในอดีต ถึงแม้ว่าไวรัสจะเปลี่ยนสายพันธุ์ไปถึงตัวอักษร N แล้ว และก็จะเปลี่ยนสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้เป็นแล้วจึงเป็นอีกได้แต่ภูมิคุ้มกันดั้งเดิม เป็นสาเหตุที่ช่วยลดความรุนแรงของโรคลงไปเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะเป็นโรคทางเดินหายใจธรรมดาโรคหนึ่ง