เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ชาวบ้านปลายพระยา จ.กระบี่ ฮือฮา! เมื่อมีการค้นพบ “ลูกตัวนิ่ม” วัยปีเศษ ที่มีปลายหางสีขาวผิดปกติ บริเวณใกล้ “ถ้ำดุก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาที่กำลังถูกนายทุนยื่นขอประทานบัตรสร้างโรงโม่หิน การค้นพบสัตว์ป่าคุ้มครองหายากตัวนี้ ตอกย้ำความสมบูรณ์ของพื้นที่ และยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ชาวบ้านที่รวมตัวคัดค้านโครงการโรงโม่หินมาอย่างต่อเนื่อง หวั่นการระเบิดภูเขาจะทำลายระบบนิเวศและแหล่งน้ำสำคัญ

โดย น.ส.จิราภรณ์ ประมวลศิลป์ วัย 31 ปี ได้โพสต์คลิปวิดีโอผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “เมมี่จ๋า” เผยให้เห็นภาพของลูกตัวนิ่มตัวหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษคือ ปลายหางเป็นสีขาว พร้อมข้อความแสดงความห่วงใยว่า “เจอกับพวกเรา พวกเจ้าปลอดภัยแน่นอน เติบโตปลอดภัยอย่าเจอพวกคนใจร้ายนะเด็กน้อย” พร้อมติดแฮชแท็ก #ถ้ำดุก #คนปลายพระยาไม่เอาโรงหิน

น.ส.จิราภรณ์ เล่าว่า ตนเองและครอบครัวได้พากันไปดูค้างคาวอุ้มลูกภายในถ้ำดุก ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ขณะเดินทางใกล้ถึงปากถ้ำ ก็ได้พบกับลูกตัวนิ่มเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม กำลังคลานต้วมเตี้ยม คาดว่าน่าจะพลัดหลงกับแม่ หรือแม่ของมันอาจตกใจจนคลานหนีไปก่อน สิ่งที่ทำให้เธอและครอบครัวประหลาดใจคือ ปลายหางของตัวนิ่มตัวนี้เป็นสีขาวอย่างชัดเจน ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนในชีวิต ถึงขั้นไม่แน่ใจว่าเป็น “ตัวนิ่มเจ้าที่” หรือไม่ จึงได้ช่วยกันจับไปปล่อยไว้ที่ปากถ้ำในจุดที่ปลอดภัย เมื่อกลับมาถึงบ้าน เล่าให้พ่อแม่ฟัง ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยมีใครเคยเห็นตัวนิ่มหางขาวมาก่อน สร้างความขนลุกและประหลาดใจเป็นอย่างมาก

การค้นพบตัวนิ่มหางขาวครั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของ “ถ้ำดุก” ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณภูเขาที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการยื่นขอประทานบัตรทำโรงโม่หิน เพื่อผลิตหินปูนสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันคัดค้านอย่างหนัก จนล้มเวทีรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากมองว่าภูเขาลูกดังกล่าวเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ มีบ่อน้ำผุด มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด รวมถึงมีถ้ำที่สวยงาม ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ไม่ควรถูกทำลายด้วยการระเบิดเพื่อนำหินไปขาย ยิ่งไปกว่านั้น ตัวนิ่มยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 1 ซึ่งปัจจุบันใกล้จะสูญพันธุ์ การค้นพบในครั้งนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันถึงความจำเป็นในการปกป้องพื้นที่แห่งนี้จากการถูกทำลาย

การต่อสู้ของชาวบ้านปลายพระยาเพื่อปกป้องถ้ำดุกและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางความหวังว่าเสียงของพวกเขาจะได้รับการรับฟัง และพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้จะได้รับการคุ้มครองให้คงอยู่ต่อไป