เลโอนาร์โด ดาวินชี ศิลปินและนักประดิษฐ์ชาวอิตาลีผู้ได้รับการยกย่องอย่างสูงว่ามีความรู้และเชี่ยวชาญหลายด้าน ผลงานที่เขาสร้างสรรค์ไว้มีมากมายหลายประเภท นอกจากนี้ยังมีบันทึกการศึกษาผลงานต่าง ๆ ของเขาที่กลายเป็นแหล่งข้อมูลอันมีค่าของคนรุ่นหลัง
เมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิจัยโบราณคดีก็ค้นพบข้อมูลอันน่าทึ่งจากบันทึกของดาวินชี ซึ่งก็คือภาพวาดอุโมงค์ลับใต้ปราสาทในศตวรรษที่ 15 ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาพวาดเกี่ยวกับปราสาทสฟอร์ซาในเมืองมิลานของอิตาลี ดาวินชีได้วาดภาพอุโมงค์ใต้ดินไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นอุโมงค์ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อนในยุคปัจจุบัน
ทีมนักวิจัยซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งมิลาน บริษัท Codevintec และปราสาทสฟอร์ซา ได้ร่วมมือกันใช้เรดาร์ตรวจจับใต้พื้นดินและสแกนด้วยเลเซอร์ ซึ่งสามารถสแกนทะลุลงไปใต้ดินที่ความลึกหลายเมตรใต้ปราสาท ช่วยให้พวกเขาพบว่า อุโมงค์ที่ดาวินชีกล่าวถึงในบันทึกของเขามีอยู่จริงและยังคาดว่าอุโมงค์เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางเดินใต้ดินที่ซับซ้อนซึ่งทอดยาวไปทั่วพื้นที่ตั้งของปราสาทอีกด้วย
“เรดาร์ตรวจจับใต้พื้นดินทำให้แบบจำลอง 3 มิติได้ชัดขึ้นจากข้อมูลของพื้นที่ที่รู้ว่ามี แต่เข้าไปไม่ได้ ทำให้รู้เรื่องทางเดินลับมากขึ้นและได้แนวคิดสำหรับการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นทางลับเหล่านี้” ฟรานเชสกา บิโอโล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งมิลานกล่าวในแถลงการณ์
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 ฟรานเชสโก สฟอร์ซา ดยุคแห่งมิลานต้องการปรับปรุงปราสาทโบราณในพื้นที่นี้เสียใหม่ให้กลายเป็นปราสาทสฟอร์ซาซึ่งมีทั้งหอคอย ลานภายใน และห้องโถงที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ในปีค.ศ. 1494 ลูโดวิโก สฟอร์ซา ผู้สืบทอดตำแหน่งของฟรานเชสโก ได้สานต่อการสร้างปราสาทและว่าจ้างเลโอนาร์โด ดาวินชีให้สร้างงานศิลปะเพื่อประดับในปราสาท ทำให้ดาวินชีได้โอกาสบันทึกถึงอุโมงค์ลับของปราสาทไว้ในสมุดบันทึก ‘Codex Forster I’ ของเขา
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอุโมงค์เหล่านี้เคยถูกใช้งานในปฏิบัติการทางทหาร แต่ก็มีเส้นทางใช้งานส่วนตัวด้วย ตัวอย่างเช่น อุโมงค์ที่มีเส้นทางเชื่อมระหว่างตัวปราสาทกับโบสถ์ซาตามาเรียเดลเลกราซี ซึ่งเป็นโบสถ์ที่สร้างโดยฟรานเชสโกและเป็นที่ฝังศพของคนในตระกูลสฟอร์ซา
ปัจจุบัน กลุ่มอาคารปราสาทแห่งนี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สามแห่ง ได้แก่ หอศิลป์ปินาโคเตกา เดล คาสเตลโล สฟอร์ซาโก, พิพิธภัณฑ์รอนดานินิ ปิเอตา และพิพิธภัณฑ์ศิลปะโบราณ
แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่สามารถเข้าถึงเครือข่ายอุโมงค์ลับได้ทุกเส้นทาง แต่เรดาร์ตรวจจับใต้ดินและการสแกนด้วยเลเซอร์ก็ยืนยันได้ว่าอุโมงค์ลับเหล่านี้มีอยู่จริง รวมทั้งช่วยเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับโลกใต้ดินของปราสาทสฟอร์ซาได้
“เป้าหมายคือการสร้างปราสาทสฟอร์ซาในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นแบบจำลองดิจิทัลที่ไม่เพียงแต่แสดงลักษณะปัจจุบันของปราสาทเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณสำรวจอดีต รวมทั้งกอบกู้องค์ประกอบทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีให้เห็นอีกแล้วได้อีกด้วย” ฟรังโก กุซเซตติ ศาสตราจารย์ด้านภูมิสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งมิลานกล่าวในแถลงการณ์
ที่มา : popularmechanics.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, vam.ac.uk