เมื่อวันที่ 30 พ.ค. เวลา 09.25 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญเป็นพิเศษ ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วันที่ 3 โดย น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย ในส่วนของงบจังหวัด และกลุ่มจังหวัด 20,065 ล้านบาท ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แสดงให้ถึงความล้มเหลวของการกระจายอำนาจและการพัฒนาท้องถิ่น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลมักทุ่มงบประมาณให้กับจังหวัดหัวเมืองใหญ่ก่อน โดยธนาคารโลกเปิดเผยว่าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายรัฐบาล ถูกใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างการพัฒนาของหัวเมืองกับชนบทกว้างขึ้นเรื่อยๆ และเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของจังหวัดในประเทศไทย มีการพัฒนาต่ำกว่าศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดในพื้นที่ชายแดน ทั้งที่จังหวัดส่วนใหญ่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ดี แต่รัฐไม่สนับสนุน แม้รัฐบาลที่นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลว่าจะทำให้ประเทศไทยทุกตารางนิ้วเป็นโอกาสของทุกคน แต่สุดท้ายเป็นแค่คำพูดและไม่มีแววจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะปล่อยให้งบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดถูกจัดสรรแบบเดิม ไร้ประสิทธิภาพในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โครงการจะจบที่การสร้างถนน ทำสะพาน ติดไฟฟ้าส่องสว่าง ทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง และการจัดอบรมสัมมนา รวมถึงเอาไว้เป็นพ็อกเกตมันนี่ปีละ 700 กว่าล้านบาท ติดกระเป๋าผู้ว่าราชการจังหวัด เอาไว้จัดสรรกรณีจำเป็น

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้งบประมาณแบบนี้ เพราะผู้มีอำนาจใช้งบประมาณคือผู้ว่าฯ ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ยึดโยงประชาชน ไม่เข้าใจพื้นที่ และมาไม่นานก็ไป การออกแบบงบประมาณแต่ละจังหวัดตอกย้ำความเหลื่อมล้ำประชาชน ใช้เกณฑ์จังหวัดใหญ่และรวย จึงจะได้งบประมาณเยอะ การพัฒนาต้องจับมือโตไปด้วยกัน อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลังแบบนี้ ดังนั้น หากนายกฯ ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสประชาชน ควรเริ่มจากการจัดสรรงบประมาณก้อนนี้ก่อน” น.ส.ภคมน กล่าว 

น.ส.ภคมน กล่าวอีกว่า หากดูงบประมาณกลุ่มจังหวัด อาทิ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 จ.กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี มีความล้ำหน้ากว่าใคร เพราะมีการทุ่มเงินไปกับการสร้างถนนและอาคารมากกว่าการสร้างคน อีกทั้งพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งเห็นได้จากงบประมาณกลุ่มจังหวัด 1,205 ล้านบาท ถูกใช้สำหรับการก่อสร้างและการฝึกอบรม ไม่มีโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและการศึกษา ถือว่ารัฐบาลใจดำ ขณะที่ในภาคอีสาน อย่าง จ.บึงกาฬ หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ ขาดแคลนแพทย์ แต่ไม่มีโครงการที่เกี่ยวกับการเข้าถึงสาธารณสุข แต่ใช้สร้างถนนและสะพาน ส่วนงบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ตั้งไว้จำนวน 1,278 ล้านบาท ถูกระบุว่าสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แต่พบว่าส่วนใหญ่ถูกเอาไปสร้างถนน สะพาน และไฟฟ้าส่องสว่าง นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ใช้สำหรับทำถนนจริงๆ อีก 3,800 ล้านบาท ทำให้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2569 จะมีงบประมาณสำหรับการก่อสร้างในภาคใต้มากถึง 5,000 ล้านบาท   

น.ส.ภคมน กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจทางการเมือง การทำภารกิจซ้ำซ้อน และขาดความพร้อมในการทำโครงการ รัฐบาลไม่เคยสร้างสรรค์งบประมาณตอบโจทย์ในสิ่งที่ประชาชนรอคอยอะไรเลย ตนจึงเสนอให้ใช้งบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดโดยต้องคำนึงถึงการพัฒนาระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข การขนส่งสาธารณะ และเครื่องจักรการเกษตร อีกทั้งรัฐบาลต้องลงไปพูดคุยกับประชาชน อย่าคิดเอง และต้องจัดสรรงบโดยคำนึงถึงการพัฒนาจังหวัด ไม่ใช่จัดสรรเป็นเค้กของกลุ่มอำนาจ และอยากเห็นงบประมาณถูกบริหารโดยท้องถิ่นจริงๆ ไม่ใช่ขอผ่านผู้ว่าฯ นอกจากนี้อยากเห็นการถ่ายโอนงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความเชื่อมโยงประชาชนมากกว่า เพราะการจัดสรรงบประมาณแบบเดิม เป็นการปิดกั้นการกระจายอำนาจ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการใช้จ่ายแบบนี้คือประชาชน เป็นการจัดสรรงบที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง