เมื่อวันที่ 30 พ.ค. เวลา 10.35 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญเป็นพิเศษ ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วันที่ 3 โดยนายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจัดทำงบประมาณฯ ปี 2569 ในส่วนของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งจะถังแตกแน่นอน เพราะเมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ว่า กยศ. จะหักเงิน 3,000 บาท กับผู้กู้เงินและค้างชำระหนี้ จนเกิดเสียงซุบซิบนินทาว่ารัฐบาลและ กยศ. ถังแตก จึงต้องรีดเลือดกับปู และเมื่อไปดูการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2569 บอกได้คำเดียวว่ารัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบนี้ กยศ. จะยิ่งถังแตกหนักขึ้น และยิ่งพิสูจน์ว่ารัฐบาลกำลังปล่อยให้นักเรียน นักศึกษาไทย ที่รอความหวังเงินกู้ กยศ. ยืนอยู่บนปากเหวเดียวดาย และเมื่อย้อนไปดูการจัดงบ กยศ. ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา กยศ. ที่ต้นเหตุแท้จริง
นายปารมี กล่าวอีกว่า กยศ. ของบประมาณฯ ปี 2569 จำนวน 21,900 ล้านบาท แต่รัฐบาลจัดสรรให้แค่ 5,100 ล้านบาท จะพอได้อย่างไรกับนักเรียนและนักศึกษาที่กำลังรอความหวังจากเงินกู้ กยศ. 630,000 กว่าคน อีกทั้ง กยศ. จะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงแน่นอน จะถังแตกแบบสุดๆ ซึ่งตนมีข้อมูลจากประมาณการเงินสดของ กยศ. ปี 2567-2572 ลดลง โดยในงบประมาณปี 2567 มีเงินสด 12,774 ล้านบาท ปี 2568 มีเงินสดติดลบ 1,698 ล้านบาท และปี 2569 รัฐบาลจัดทำงบประมาณ 5,100 ล้านบาท ซึ่งซ้ำเติม กยศ. ให้มีเงินสดติดลบสูงถึง 16,708 ล้านบาท ดับความหวังนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งตนเคยพูดไว้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีว่า กยศ. กำลังจะถังแตก แต่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ปฏิเสธว่าไม่จริง กยศ. ยังมีสภาพคล่องดี แต่สุดท้ายก็ไปขอแปรญัตติได้งบประมาณมาเกือบ 4,000 ล้านบาท ต่อมาในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2568 วาระ 2 ตนถามนายจุลพันธ์อีก ซึ่งนายจุลพันธ์พูดว่าขอให้ตนเชื่อมั่นรัฐบาลในการดูแล กยศ. แต่หลังจากนายจุลพันธ์ ไปของบกลาง 2,800 กว่าล้านบาท
“เดี๋ยวปีนี้ท่านคงพูดอีกว่า กยศ. ถังไม่แตก แต่วันนี้ไม่มีใครเชื่อลมปากท่านรัฐมนตรีอีกแล้ว ผู้กู้และนักเรียนที่รอเงินกู้ เลิกหวังหมดความเชื่อมั่นในตัวท่านแล้ว วันนี้เกิดเหตุการณ์ที่สะท้อนว่าสถานะทางการเงินของ กยศ. กำลังมีปัญหารุนแรงทั้งแตกแน่ๆ แต่คงโทษใครไม่ได้นอกจากรัฐบาลที่จัดสรรให้ไม่เพียงพอ หลังจากที่แก้กฎหมาย กยศ. รัฐบาลก็รู้อยู่เต็มอกว่ารายรับ กยศ. ลดลงจากเบี้ยปรับที่ลดลงแต่รัฐบาลก็ไม่ได้นำพา ดิฉันพูดไม่รู้กี่ครั้งกี่หน แต่รัฐบาลก็ทำหูทวนลม คนรับกรรมคือผู้กู้ อดีตนักเรียน นักศึกษา ต้องมารับกรรมที่รัฐบาลเป็นคนก่อขึ้น และเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลแก้ปัญหา กยศ. แบบสะเปะสะปะ แก้ไขรายวัน ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ ไม่ได้แก้ทั้งระบบอย่างลงลึกถึงสาเหตุที่แท้จริงเลย” นายปารมี กล่าว
นายปารมี กล่าวอีกว่า ปี 2568 จะเป็นปีแรกที่ กยศ. เปลี่ยนหลักเกณฑ์การกู้เงินของนักศึกษาใหม่ในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล จากเดิมที่สาขานี้เคยกู้ตามหลักเกณฑ์ผู้กู้ลักษณะที่ 2 คือสาขาหลักที่เป็นความต้องการของประเทศ แต่ กยศ. เปลี่ยนให้เป็นผู้กู้ลักษณะที่ 1 คือนักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างตามมา คือนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเหล่านี้ จะต้องมีบางคนไม่สามารถกู้เงินจาก กยศ. ในปีนี้ได้แน่นอน เพราะต่อไปนี้นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เป็นนักศึกษาใหม่ที่จะมากู้ตามหลักเกณฑ์ใหม่นี้ จะต้องยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์เท่านั้น ซึ่งตนสงสัยว่าสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพนี้ ไม่ใช่สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักของประเทศตรงไหน การที่รัฐบาลจัดงบประมาณให้ กยศ. ที่มีผู้กู้ 600,000 กว่าคนในปีนี้ แสดงว่ารัฐบาลไม่ต้องการช่วยเหลือผู้ที่รอเงินกู้ กยศ. ปล่อยให้พวกเขายืนลำพังบนปากเหว ตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลแถลงไว้ว่าเด็กทุกคนจะเติบโตและได้เข้าเรียนหนังสือเท่าเทียมกัน
นายปารมี กล่าวอีกว่า ขอฝากข้อเสนอไปยังรัฐบาล 3 ข้อ คือ 1.รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบให้ กยศ. อย่างเพียงพอ กยศ. จะต้องปล่อยเงินให้ผู้กู้ปีละประมาณ 42,000 ล้านบาท จะได้จากผู้กู้กลับมาปีละ 20,000 ล้านบาท ฉะนั้นรัฐบาลต้องจัดงบประมาณให้อย่างน้อยปีละ 22,000 ล้านบาท ขอให้รัฐบาลใส่งบประมาณที่จัดให้ กยศ. เป็นงบฯ ประจำปีอย่างชัดเจน 2.กยศ. ต้องแก้ปัญหาบริหารจัดการระบบให้มีประสิทธิภาพ และ 3.กยศ ต้องเร่งปรับปรุงระบบ กยศ. ดิจิทัล วางระบบดีเอสแอลให้เสร็จตามระบบภายในเดือน ก.พ. 2569 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้กู้ทุกราย และ กยศ. ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่ามีประสิทธิภาพ เพราะเงินกู้ กยศ. คือทางรอด คือการต่อลมหายใจเด็กได้เรียนหนังสือ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และการศึกษาไทยที่ไม่ฟรีจริง