เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า งบประมาณแผ่นดินเพิ่มมาจากปีที่แล้วแค่ 0.7% แทบจะไม่ได้เพิ่มเลย แต่สำหรับกระทรวงสาธารณสุข แม้งบประมาณแผ่นดินจะเพิ่มมาแค่นี้ แต่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มมา 3.3% และหักส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าไปด้วยเพิ่มมาเกือบ 20 เท่า

นพ.วาโย กล่าวว่า วันนี้เมื่อปีที่แล้วรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขกับพี่น้องชาวสาธารณสุขผ่านมาแล้ว 1 ปี โดยนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยคือเรื่อง 30 บาท รักษาทุกโรค ที่จะยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ต้องฝากถามไปถึงพี่น้องประชาชนว่าใช้ได้จริงหรือไม่ ซึ่งในปีนี้ได้ยกเลิก และตัดทิ้ง เป็นเพราะทำสำเร็จแล้ว หรือเพราะทำไม่ได้ ซึ่งพยายามลงทุนทำเชื่อมต่อระบบข้อมูล บริการสุขภาพดิจิทัล Thailand Health Atlas หรือแผนที่สุขภาพประเทศไทย โดยการเชื่อมต่อระบบข้อมูล เพื่อให้สามารถส่งตัวแบบไร้รอยต่อ ซึ่งในปีนี้ได้เพิ่มงบประมาณระยะที่ 2 เข้าไป  การสร้างเสริมคนให้มีสุขภาพที่ดี งบประมาณ 7 หมื่นกว่าล้าน ส่งเสริมการผลิตแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขไม่น้อยกว่า 42,400 คน โดยมีการของบประมาณในปีนี้ 15,000 ล้านบาท ซึ่งมีการแบ่ง 8,000 ล้านบาทเอาไปสร้างตึก ตนไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่อีก 4,000 ล้านบาทคือการซื้อของ และที่เหลือถึงจะได้เริ่มไปลงทุน

นพ.วาโย กล่าวว่า ทั้งนี้การให้เข้าถึงโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ตั้งเป้าไว้เกือบ 20 ล้านคน โดยปัจจุบันมีการทำไปแล้ว 12 ล้านคน ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลข มีการนับรวมยอดรับยาที่ร้านยา โดยแม้จะเป็นแค่ยาพาราเซตามอลก็ตาม และในปี 69 ก็ตั้งเป้าไว้เกือบ 18 ล้านคน ส่วนผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนที่ตั้งเป้าไว้เกือบ 600,000 คน โดยในปี 68 ทำได้แค่ 250,000 คน จึงมีการลดจำนวนลงมาในปี 69 เหลือแค่ประมาณ 500,000 กว่าคนเท่านั้น  

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า สำหรับงบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานที่ได้รับงบเพิ่มสูงมาก เพิ่มขึ้น 15.18% เราคาดหวังว่าจะทำอะไรให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่การกำหนดตัวชี้วัดกลับเท่าเดิม และไม่มีรายงานว่าได้ตรงตามเป้าหรือไม่ ส่วนคลินิกชุมชน โรงพยาบาลเอกชน ที่เข้ามาร่วมบริการกับรัฐ ก็ถูกเบี้ยวหนี้ หลายโรงพยาบาลถอนตัวออกไปเพราะ สปสช. ถังแตก โดยเงินสดคงเหลือต้นงวดของ ปี 69 เหลือ 200 ล้านบาท

นพ.วาโย กล่าวต่ออีกว่า ส่วนที่บอกว่าจะแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างบูรณาการ พัฒนามินิธัญญารัตน์ Patient journey ทบทวนเชิงกฎหมาย และการที่บอกว่าการบำบัดคือเรื่องปลายน้ำ ตนเองมองว่า การบำบัดไม่ใช่เรื่องปลายน้ำ แต่การระบุตัวตน ว่าไม่ใช่ผู้ค้า และนำไปบำบัด จะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ ซึ่งต้องเพิ่ม Health Literacy ฝากทางกรมอนามัยด้วย ส่วนที่มีการจะยึดทรัพย์สำหรับผู้ที่มียาเสพติดนั้น แปลว่ามีการสันนิษฐานว่าเป็นผู้ค้าทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่ 1 เม็ด แบบนั้นไม่ได้

นพ.วาโย กล่าวต่อไปว่า การบอกว่าจะยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพ ต่อยอดภูมิปัญญาไทย ซึ่งมีการออกนโยบายตั้งเงินรางวัลให้เบิกจ่ายยาสมุนไพร ซึ่งตั้งในโรงพยาบาลแพทย์แผนปัจจุบัน ตนเองไม่ได้บอกว่ายาสมุนไพรไม่ดี แต่มันต้องถูกที่ และถูกทาง โดยบอกว่าถึงขนาดให้ตัวชี้วัดเพียงแต่เป็นทางเลือก แต่กลับมีงบอุดหนุนเพิ่มให้กับโรงพยาบาลที่สามารถจ่ายยาสมุนไพรได้เยอะ ซึ่งถือเป็นการบีบให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กรมการแพทย์แผนไทยได้งบเพิ่มขึ้น 30% เพื่อมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าตลาดสมุนไพร ทำให้ตลาดโตขึ้น ตนเองไม่อยากไปตั้งคำถามว่าท่านรัฐมนตรีมีญาติที่นามสกุลเดียวกัน เป็นเจ้าของร้านสมุนไพรหรือไม่ แต่การกระทำเหล่านี้ เขาก็ได้ประโยชน์อยู่ดีซึ่งก็ต้องอธิบายให้ได้ ไม่ใช่มากล่าวหาแบบนี้

นพ.วาโย กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้งบประมาณในการเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ไทย  มีการนำงบประมาณดังกล่าว ไปจัดอีเวนต์ นึกว่าจะนำไปทำซีรีส์ หรือละครให้ดูจับต้องได้ ศูนย์อาคารสาธารณสุขเกี่ยวกับเรื่องการแพทย์แผนไทยและการทางเลือก ตั้งงบประมาณปี 2569 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2570 ซึ่งมีการสร้างที่ จ.สุโขทัย โดยเป็นจังหวัดบ้านเกิดของท่านรัฐมนตรี จึงอยากให้มีการตอบและชี้แจงในเรื่องนี้ ขณะที่การสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร และ อสม. สวัสดิการค่าตอบแทน ลดหนี้สินบุคลากร สื่อสารสร้างสัมพันธ์ โดยมีโครงการนับคาร์บ เพราะมีผู้ป่วยในโรคประเภท NCDs เยอะ เมื่อมีผู้ป่วยลดลง งานแพทย์ก็จะลดลง ซึ่งมีการตั้งงบประมาณปี 69 กว่า 1,200 ล้านบาท และอยากให้มีการมาเล่าให้ฟังว่านำงบประมาณดังกล่าวไปทำอะไรบ้าง ส่วน World Expo เป็นการจัดอีเวนต์ที่แพงมาก ตนเองคัดค้านเรื่องนี้มาตลอด ซึ่งในปี 69 มีการตั้งงบ 200 กว่าล้าน ในการรื้อถอนโครงการดังกล่าว จึงตั้งคำถามว่ามากไปหรือไม่.