สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ว่า สมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี และประธานวุฒิสภากัมพูชา โพสต์เฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการ ว่ามี “กลุ่มชาวไทยชาตินิยมสุดโต่ง” เข้ามาด่าทอและใช้ถ้อยคำหยาบคาย เพื่อทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชนของทั้งสองประเทศ และต้องการยั่วยุให้เกิดการปะทะกันอีกครั้ง ระหว่างกองทัพของทั้งสองฝ่าย โดยมีผู้โพสต์ชาวไทยจำนวนมาก เรียกร้องให้กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งปัจจุบันทหารกัมพูชาควบคุมอยู่
ทั้งนี้ สมเด็จฮุน เซน กล่าวว่า ขอชี้แจง 3 ประเด็น “เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดทางประวัติศาสตร์”
1.พื้นที่สามเหลี่ยมมรกต (บริเวณช่องบก) เป็นดินแดนของกัมพูชา และทหารกัมพูชาประจำการอยู่ในพื้นที่นี้ตั้งแต่ก่อนข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีส ก่อนมีบันทึกความเข้าใจเมื่อปี 2543 หรือ เอ็มโอยู 2543 (MOU2543) ซึ่ง องค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา หรือ ยูเอ็นทีเอซี สามารถเป็นพยานได้ หากยังไม่ชัดเจน กัมพูชาและไทยสามารถเห็นชอบร่วมกัน ในการนำข้อพิพาทเรื่องนี้ พร้อมแผนที่ทางการที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ “ไม่ใช่แผนที่ซึ่งวาดขึ้นเอง” ไปยื่นต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้ศาลตัดสินชี้ขาดเพื่อยุติเรื่องนี้ และไม่ให้เกิดเรื่องแบบเดิมซ้ำขึ้นอีก
2.ภาพถ่ายหลายภาพที่ตนกับภริยา และผู้ร่วมงานได้เดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวเมื่อนานกว่า 15 ปีก่อน ถือเป็นหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา เนื่องจากตนไม่มีทางใส่เครื่องแบบทหารแล้วเข้าไปถ่ายรูปในดินแดนของไทยหรือของลาวอย่างแน่นอน
3.กัมพูชาไม่สามารถถอนทหารออกจากดินแดนของตนเองตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทยได้ การกระทำเช่นนี้เป็นกลยุทธ์แบบเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยในเวลานั้น เคยพูดกับตน ต่อหน้าประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อปี 2554 ว่าให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารออกจากพื้นที่ปราสาทพระวิหารพร้อมกัน สมเด็จฮุน เซน กล่าวว่า ตอนนั้นตนตอบกลับไปว่า ไม่สามารถถอนทหารออกจากแผ่นดินของตัวเองได้ ตรงกันข้าม และยืนยันว่า ไทยต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายถอนทหาร
สมเด็จฮุน เซน ทิ้งท้ายว่า การปะทะเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2568 เป็นความพยายามอีกครั้งของแผนการยึดครองดินแดนจากกัมพูชา ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และขับเคลื่อนโดยผู้บังคับบัญชาทหารระดับล่าง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงของไทย
อนึ่ง ตอนนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กจากประเทศไทย ไม่สามารถเข้าไปดูเนื้อหาในเฟซบุ๊กของสมเด็จฮุน เซน ได้อีกต่อไปแล้ว.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES