เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 เมื่อวันที่ 28-31 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลอาจจะยังไม่ได้ชี้แจงลงรายละเอียดเท่าที่ควร เพราะตอนที่ฝ่ายค้านอภิปรายก็มีประเด็นหลายอย่างที่เราอยากเห็นการจัดสรรงบประมาณที่เป็นการลงทุนที่หาทางออกให้ประเทศอย่างตรงจุด รวมถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น การใช้จ่ายที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีความโปร่งใส ยังไม่ได้มีการรีดไขมันเท่าที่ควร หากจะสรุปง่ายๆ คืองบฯ ลงทุนในปีนี้ถูกนำไปใช้ 3 เรื่องหลักๆ คือ ตัดถนน ขุดคลอง และสร้างตึก แทนที่จะไปลงทุนให้ตรงจุดมากกว่านี้ ถือเป็นการทำซ้ำอยู่กับสิ่งเดิมๆ
เมื่อถามว่า ได้มีการกำชับแนวทางอะไรพิเศษในการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญงบประมาณฯ กับบุคคลที่เข้าไปนั่งเป็นกมธ.หรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าทุกประเด็นที่ได้อภิปรายไป เพราะประเด็นถือมีความสำคัญหมด และจะถูกส่งต่อไปยังคนที่เป็นกมธ.วิสามัญงบประมาณว่าให้ช่วยกันตรวจสอบ และเนื่องจากปี 2569 เราคาดการณ์กันว่าวิกฤติจะหนักกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากเรื่องของสงครามการค้า เราจึงจะพยายามที่จะทำงานเพื่อช่วยรัฐบาลตัดงบฯ ที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นงบฯ ที่ต้องสงสัยว่าจะนำไปสู่การทุจริต หรือแม้กระทั่งพวกที่เป็นไขมัน เช่น งบฯ อบรมต่างๆ การลงทุนที่ไม่ตรงจุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะพุ่งเป้าไปตัดงบประมาณในส่วนนั้น
เมื่อถามถึง กรณีก้าว Geek เตรียมส่งเอไอเข้าไปนั่งในกมธ.วิสามัญงบประมาณ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นโปรเจกต์ของชุมชนออนไลน์ โดยก้าว Geek ไม่ได้เป็นทีมลูกของพรรคประชาชน เป็นโปรเจกต์ที่เขาริเริ่มกันเอง ซึ่งตนเห็นพอดีและเห็นว่าน่าสนใจ เขามีการทำตัวอย่างที่สำเร็จรูปของงบประมาณวาระที่หนึ่ง โดยนำคลิปการอภิปรายตลอด 4 วันที่ผ่านมาโยนส่งไปให้เอไอ และเอไอก็ผลิตออกมาในรูปแบบของพอดแคสต์ ซึ่งบทสนทนาในพอดแคสต์ของเอไอที่ผลิตออกมานั้น ก็ค่อนข้างแม่นยำ
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ในวาระสองจะมีเอกสารเยอะกว่าวาระแรก สิ่งที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายคือ รายการพอดแคสต์ง่ายๆ เช่นนี้ ฟังสบายๆ โดยธีมของก้าว Geek คือจะเอาเอไอเข้าไปนั่งในกมธ. ความหมายคือข้อมูลทุกอย่างที่เราได้รับชี้แจงในชั้นกมธ. เราอาจจะลองทำงานกับทีมดิจิทัลของก้าว Geek โดยจะลองส่งข้อมูลให้เขาไปป้อนเข้าสู่เอไอ และทำเป็นรายการออกมาว่าจะสามารถย่อยข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจง่ายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากทำได้ก็จะดี.